**

Image

วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๓

วิธีที่ ๓ ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้ภายในส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นนิมิตเครื่องหมาย จะเป็นกายส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ กายส่วนไหนที่เรามีความถนัดใจเพ่งดูได้ง่าย ให้เอากายส่วนนั้นเป็นจุดยืนของสติ ให้สติกับผู้รู้ติดอยู่กับสตินั้นๆ อย่าให้เผลอ ถึงลมหายใจหรือคำบริกรรมมีอยู่ก็ให้ก็ให้เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น ถ้าเราไปจดจ่อที่ลมหายใจและคำบริกรรมแล้ว กายส่วนที่เราเพ่งดูอยู่นั้นก็จะเลือนลางไป ใจก็จะเขวจากกายที่เพ่งอยู่นั้นไป ใจก็จะไม่อยู่ในกายส่วนนั้นเลย

ฉะนั้นจึงให้สติกับผู้รู้ เพ่งดูกายส่วนนั้นอย่างใกล้ชิด จะเป็นตำหนิแผลเก่าๆ ก็ได้ จะเป็นส่วนด้านหน้าหรือส่วนด้านหลังก็ให้เราเลือกหาเอง เพื่อไม่ให้มีความขัดข้องหรือความรู้สึกภายในใจ ครั้งแรกก็ให้เราสมมติรู้ ตามสีสันและลักษณะกายส่วนนั้นๆ ตามความเป็นจริงว่ามีลักษณะนั้นๆ ส่วนหนังที่เป็นที่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก ถ้าเรากำหนดดูให้รู้เห็นทั้งหมดนั้นไม่ได้ ก็เพราะว่าความตั้งใจและสติเรายังอ่อน

ฉะนั้น จึงให้กำหนดดูบางส่วน จะเป็นส่วนเล็กๆ ก็ได้ เพื่อให้ใจจดจ่อรู้เห็นในที่แห่งเดียว ให้เหมือนกันกับที่เราเอาเส้นด้ายสอดเข้ารูเข็ม ถ้าเราไม่ใช้สายตาเพ่งดู ก็จะไม่เห็นรูเข็มปลายเส้นด้ายนั้นเลย และไม่มีทางที่จะสอดด้ายเข้ารูเข็มได้ ถ้าหากเราใช้สายตาจดจ่อกับรูเข็ม และปลายเส้นด้ายแล้ว เราก็จะสอดด้ายเข้ารูเข็มได้ทันทีนี้ฉันใด

การเพ่งดูกาย ก็อาศัยสมมติส่วนที่เราเพ่ง และสถานที่ที่เราจะเพ่งนั้นให้มีส่วนจำกัด ให้มีความตั้งใจด้วยสติจดจ่อจี้ลงในจุดนั้นๆ โดยสำนึกว่า มีความสว่างอยู่ในความสำนึกก่อน ถ้าชำนาญแล้วก็จะรู้เห็นในกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติกำหนดที่รู้เอง ถ้าความเคยชินกำหนดรู้เห็นกายส่วนนั้นๆ อยู่ต่อไป เราก็จะกำหนดกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติที่รู้เอง ถ้าความเคยชินรู้เห็นกายส่วนนั้นอยู่ ต่อไปเราจะกำหนดให้เห็นกายส่วนนั้นๆ เน่าเปื่อยไปทั้งตัวก็ได้ หรือกำหนดให้หลุดออกไปให้เห็นโครงกระดูกก็ได้ ต่อไปก็จะเป็นพื้นฐานได้ดี

การกำหนดดูกายเพ่งกาย ก็เพื่อให้กายได้ตั้งอยู่ในกายส่วนนั้นๆ เพื่อให้ใจได้มีหลัก เหมือนนกที่บินอยู่ในอากาศก็จำเป็นต้องหาต้นไม้เป็นที่จับ เพื่อได้พักผ่อนเอากำลังใจก็เหมือนกัน ก็ต้องหากายส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของใจ และมีสติกำหนดรู้ในกายส่วนนั้นๆ ใจก็จะไม่ได้คิดนี้เหมือนกับที่เคยเป็นมา 

Image
วิธีนั่งสมาธิ วิธีที่ ๔


วิธีที่ ๔ ให้ตั้งใจโดยมีสติกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจให้เห็นชัด วิธีนี้ก็เหมือนกันกับวิธีกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจขณะเดินจงกลมนั่นเอง แต่เรามากำหนดรู้อารมณ์ในขณะนั่งสมาธิ ย่อมเห็นอารมณ์ได้ชัดเจนมากเพราะไม่มีความไหวตัวไปมา ความสั่นสะเทือนภายในกายไม่มี จึงสังเกตดูอารมณ์ภายในกายได้ง่ายและรู้ละเอียด อารมณ์แห่งความสุขก็รู้ชัด อารมณ์แห่งความทุกข์ก็รู้ชัด แม้แต่อารมณ์ที่ไม่สุขไม่ทุกข์ก็มีสติก็รู้ชัด อารมณ์แห่งราคะตัณหาก็รู้ชัดทั้งนั้น

อารมณ์ทั้งหมดนี้เป็นได้ทั้งเหตุ เป็นได้ทั้งผล หมุนไปได้รอบด้าน และหมุนไปได้ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ผลัดกันเป็นเหตุผลัดกันเป็นผลเสมอ เรียกว่า สันตติ คือ อารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว ที่สืบทอดให้กันอยู่เสมอ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นต้นเหตุ อะไรเป็นปลาย คือ หมุนไปเวียนมาไม่รู้ว่าอะไรอารมณ์ใหม่อารมณ์เก่า จึงเข้าใจเองว่า เป็นอารมณ์ใหม่ตลอดไป และตลอดเวลา จึงเรียกว่า อวิชชา คือ ความไม่รู้ทางไปทางมาของวัฏจักรนั่นเอง จึงเรียกว่าผู้หลงโลกหลงสงสาร ก็คือมาหลงอารมณ์ภายในใจนี่แหละเป็นเหตุ

อารมณ์ภายในใจนั้นยังไม่เป็นกิเลส ตัวกิเลส ตัณหา อวิชชาคือตัวก่อให้อารมณ์รัก อารมณ์ชังเกิดขึ้นที่ใจ มีในใจและตั้งอยู่ที่ใจเหตุนั้นการกำหนดรู้เห็นอารมณ์ภายในใจ ก็เพื่อเราจะใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุของอารมณ์ เพื่อให้รู้สายทางของอารมณ์ได้ชัด และเพื่อให้ได้วิธีตัดสายลำเลียงและตัดสะพานของกิเลสตัณหาต่อไป ถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่าอารมณ์ภายในใจแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าเราจะตัดต้นทางด้วยวิธีใด หรือเหมือนกับเราต้องการคมมีดเราก็ต้องลับมีด ถ้าเราไม่ต้องการความร้อนเราก็ต้องดับไฟ ใจมีความทุกข์ เราก็ต้องหาวิธีดับทุกข์เพื่อไม่ให้ทุกข์เกิด ถ้าใจมีความทุกข์อารมณ์ของความทุกข์ก็แสดงออกมาที่ใจ ใจอยู่ที่ไหน อารมณ์ของใจก็จะอยู่ที่นั่น อารมณ์ของใจอยู่ที่ไหน ใจก็อยู่ในที่เดียวกัน

ถ้าเราอยากรู้ใจ เราก็ต้องจับอารมณ์ของใจไว้ให้ดี เหมือนกันกับไฟกับความร้อนของไฟ ใจกับอารมณ์ก์ต้องอยู่ด้วยกันฉันนั้น การกำหนดรู้อารมณ์ภายในใจนี้ไม่ใช่จะกำหนดอยู่นาน เพียงกำหนดรู้อารมณ์ของใจว่า เกิดจากเหตุอันนี้ๆ แล้วก็หยุดมาพิจารณาด้วยปัญญาต่อไป เหมือนเราตรวจออกมาเห็นข้าศึกแล้วก็ตั้งศูนย์ยิงเข้าใส่ให้ถูกข้าศึกศัตรูทันที เหมือนยิงเนื้อก็ไม่ต้องเล็งปืนไว้นาน เมื่อเรารู้ว่าไฟกำลังก่อตัวเราก็ต้องหาทางดับ ฉะนั้น การกำหนดรู้อารมณ์เพื่อจะใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อจะตัดสายทางมาของกิเลสตัณหาคือความไม่อิ่มพอในกามทั้งหลายให้หมดไป แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตัดสะพานและทำลายกงกรรมของวัฏจักรให้ย่อยยับ และขาดจากการสืบต่อกันอย่างสิ้นเชิง

นี้ก็เพราะมาเห็นจุดเป้าหมายค่ายทัพของกิเลสตัณหาว่าเกิดจากเหตุอันนี้แล้ว จึงใช้สติปัญญาศรัทธาความเพียรเข้าไประเบิดค่ายให้มันดับไปทั้งเชื้อชาติโครตตระกูลสูญพันธุ์โดยไม่มีชิ้นเหลือ เหมือนกันกับการทำสงครามเขาก็ต้องมองหาจุดสำคัญ เขาชกมวยก็ต้องมองหาเป้าที่จะน็อค และหวังชนะด้วยความมั่นใจถึงจะแพ้ไปในบางครั้ง ก็ตามแก้มือจนกว่าจะชนะเต็มที่ นี่แหละนักปฏิบัติถ้าปฏิบัติไม่จริง จะถูกกิเลสตัณหาน็อคจนไม่มีประตูจะสู้ ไม่ยอมฟิตซ้อมสติปัญญา ปล่อยให้กิเลสตัณหาเหยียบย่ำจนตัวแบน

ฉะนั้น เราเป็นนักปฏิบัติผู้มีศักดิ์ศรี มีความตั้งใจมั่นหมายที่จะทำลายข้าศึกคือกิเลส เราก็ตั้งเข็มทิศหมุนไปให้ตรงในจุดภายในคืออารมณ์ของใจ เพื่อจะได้วางแผนกำจัดชะล้างมลทินของใจให้หมดไป
 

 

Image

๏ วิธีกำหนดคำบริกรรมประสานลมหายใจ

วิธีกำหนดสมาธิกับผู้รู้ประกอบคำบริกรรมเข้าประสานกับลมหายใจดังนี้ ขออธิบายสั้นๆเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น อันดับแรกให้ตั้งใจโดยมีสติว่าเราจะตั้งใจกำหนดคำบริกรรมนี้ประสานกับลมหายใจเข้าว่า พุท เราตั้งใจกำหนดคำบริกรรมนี้ประสานกับลมหายออกว่า โธ แต่ลมหายใจของเรามีอยู่ถึงเราไม่ตั้งใจดู มันก็หายใจออกหายใจเข้าอยู่อย่างนั้น

ฉะนั้น เราจึงมากำหนดเพียงให้เป็นอุบายของสติกับผู้รู้ และคำบริกรรมกับลมหายใจให้อยู่ในกรอบเดียวกันเท่านั้นนี้เป็นวิธีฝึกสติ เพื่อให้สติมีความเข้มแข็ง จึงให้ทำด้วยความตั้งใจ คือเราจะต้องตั้งใจอันมีสติลมหายใจเข้าเอง เราจะต้องตั้งใจอันมีสติลมหายออกเอง เวลาใดเราไม่ได้ตั้งลมหายใจเข้าเอง ถือว่าสติเราตามไม่ทัน หายใจออกเองก็ถือว่าเราขาดสติ

ฉะนั้น จึงให้เรามีสติตั้งใจหายใจเข้าเอง มีสติตั้งใจหายใจออกเอง ถ้าชำนาญแล้วไม่ยาก ต่อไปก็รู้เท่าทันกันเอง นี่คือเหตุเข้าใจขั้นต้น เมื่อเราชำนาญในลมกับคำบริกรรมแล้ว ก็ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจหยาบหรือละเอียด ถ้าลมหายใจยังหยาบอยู่ก็ให้ดูลมไปก่อน ถ้าลมหายใจมีความละเอียดแล้ว สติของเราก็ไม่เผลอรู้เท่าทันลมได้ดี เราก็ปล่อยคำบริกรรมนั้นเสีย ให้มาดูลมหายใจเข้าออกอยู่เฉพาะลมเท่านั้น เมื่อใจกับลมละเอียดแล้ว มันจะแสดงออกมาทางกาย มีลักษณะต่างๆ เช่น ปรากฏว่ามีกายใหญ่บางส่วน หรือใหญ่ทั้งหมดภายในกาย หรือเป็นกายเล็กบางทีสูงขึ้น บางทีเตี้ยลง ถ้าเป็นในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอย่าไปกลัว นั่นเป็นอาการของใจ แสดงออกมาทางกายให้รีบตั้งสติกับผู้รู้ให้รู้ลมให้ละเอียดเข้าไปอีก

เมื่อลมละเอียดเต็มที่แล้ว มันจะแสดงขึ้นมาอีกวิธีหนึ่งคือ ลมหายใจมันจะน้อยเข้าทุกที เล็กเข้าทุกที และระบบการหายใจจะหายใจสั้นเข้าทุกที ถ้าผู้กลัวตายก็จะถอนตัวทันที ถ้าเป็นเช่นนี้เราต้องไม่กลัว นั่นแหละใจกำลังจะสงบ จะเห็นความอัศจรรย์ของตัวเอง ให้รีบตั้งสติรู้อยู่กับลมหายใจเท่านั้น ลมหายใจน้อยก็รู้ ลมหายใจสั้นก็รู้ ลมจะเล็กเหมือนใยบัวก็รู้ ลมหายใจจะสั้นและอยู่ในลำคอเท่านั้น พอสุดท้ายลมหายใจก็จะหมดทันทีเมื่อลมหมด ความสงบใจนั้นก็หมดภาระกับลมหายใจ มีแต่ความสงบของใจ เต็มไปด้วยความสว่างรอบตัว แต่ไม่ปรากฏเห็นกายตัวเองเลย มีแต่ความสว่างในใจสบายและมีความสุขเท่านั้น

ความสุขที่ใจมีความสงบนั้น ไม่มีความสุขใดในโลกจะเสมอ เหมือนดังพุทธภาษิตว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี ความสุขนี้เป็นความสุขไม่นานก็จะถอนตัวออกมาหายใจธรรมดา ผลของความสงบนั้นยังปรากฏอยู่ ถ้าผู้ไม่มีรัศมีของปัญญาแฝงไว้ที่ใจ ก็อยากสงบอยู่อย่างนั้นตลอดไป และติดใจความสงบนั้นๆ ถ้าผู้มีรัศมีของปัญญามีเชื้อติดอยู่ที่ใจก็สามารถเริ่มพิจารณากายต่อไปได้ ไม่ติดอยู่กับความสุขนั้นๆ เลย


๏ สรุปเรื่อง

จึงขอสรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจอีกครั้ง สมาธิความตั้งใจมั่น กับสมาธิความสงบแห่งใจทั้งสองนี้ มีความหมายหยาบละเอียดต่างกัน สมาธิความตั้งใจมั่น คือ เป็นผู้มีสติปัญญาแฝงอยู่ที่ใจ จะยืนจะเดินอยู่ที่ไหน สถานที่ใดก็มีสติรักษาใจ หรือนั่งอยู่ที่ไหน นั่งอยู่อย่างไร สถานที่เช่นไร ก็มีสติรักษาใจ หรือบางครั้งได้พูดกับเพศตรงข้ามก็มีสติ หรือเพศตรงข้ามหนีไปใจก็มีสติ

จึงสมกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ในประโยคสุดท้ายว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อกิจที่จะได้พูดกับสตรีมีอยู่ ถ้าพูดก็พูดให้มีสติ นี้แล จึงได้ชื่อว่า สมาธิ ความตั้งใจมั่น ขั้นพื้นฐานสมาธิขั้นนี้ก็เริ่มพิจารณาได้แล้ว จะพิจารณาในความทุกข์ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งตัวเองและคนอื่น ให้มีสภาพอย่างเดียวกัน จะพิจารณาธาตุสี่ ขันธ์ห้า จะพิจารณาให้เป็นอสุภะให้ตกอยู่ในไตรลักษณ์ หรือเราจะยินดีพอใจกับวัตถุใด สิ่งใดๆ ก็ตาม ก็ยกเอาวัตถุสิ่งของนั้นมาพิจารณาให้ตกอยู่ในสภาพแห่งไตรลักษณ์

การพิจารณานี้ เราจะอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร จะนั่งจะเดินอยู่ที่ไหนก็พิจารณาได้ ให้เรารู้ตัวเองอยู่เสมอว่า เรายังมีกิเลสตัณหา อย่าประมาทนอนใจสถานการณ์ใจเรายังไม่ปกติ เราก็ต้องเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ข้าศึกคือกิเลสตัณหาเข้ามา เราก็จะกำจัดทันที กิเลสตัณหาเกิดขึ้น สติปัญญาก็รู้เท่าทัน นั้นคือผู้ไม่ประมาท คือเป็นผู้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ

สมาธิ คือ ความสงบ สมาธินี้ลึกลงไปอีก อันดับแรกเราก็ต้องอาศัยคำบริกรรมดังที่เราได้อธิบายมาแล้ว เมื่อใจสงบลงลึกถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตถอนออกมาแล้ว ก็ต้องดำริหาอุบายปัญญามาพิจารณาทันที เรื่องที่จะพิจารณาก็ได้อธิบายมาแล้ว

ถ้าหากความสงบไม่ถึงอัปปมาสมาธิ จะทำอย่างไรก็สงบอีกไม่ได้ จะเป็นเพียงขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธินิดๆ หน่อยๆ เราก็เริ่มพิจารณาด้วยปัญญาได้เลย ในช่วงขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธินี้แหละ ปัญญากำลังวิ่งรอบรู้ในสรรพสังขารทั้งหลายได้ดี เรื่องที่จะเอามาพิจารณาก็ได้อธิบายมาแล้ว

ถ้าเรากำหนดบริกรรมภาวนา แต่ในใจเราไม่มีความสงบขั้นไหนๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ ให้กำหนดดูใจ และอารมณ์ภายในใจเราเองในขณะนั้น ว่ามีอะไรที่ทำให้ใจเราไม่สงบ มีความขัดข้องอยู่ที่ไหน ใจเรายังผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง บางทีก็ติดอยู่กับกามคุณ มีรูปเป็นต้น หรือติดพันอยู่กับวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าเรารู้ว่าใจเราผูกพันอยู่กับสิ่งนั้นแล้ว เราก็จับเอาสิ่งที่เรามีใจผูกพันนั้นแหละมาพิจารณาด้วยปัญญา ยกโทษภัยในของที่เราติดนั้นแหละมาพิจารณาให้ใจได้รู้ การพิจารณาด้วยปัญญาดังได้อธิบายมาแล้ว 


.............  หน้า1 ,หน้า2


 
 

 


 ธรรมะมีหมอดู
 

 
ชมรมบ้านโหรเทวเทพ    


หมอดูแม่นๆ