พระไตรปิฎก
โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ
ศาสนาทุกศาสนา ย่อมมีคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาเป็นหลักในการสั่งสอน พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฎกหรือเตปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับไตรเวท ซึ่งเป็นคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์ ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์ อัลกุรอานของ ศาสนาอิสลาม พระพุทธเจ้าประทานพระพุทธโอวาทไว้มากหลายต่างกาลเวลา ต่างสถานที่กัน พระสงฆ์สาวกซึ่งท่องจำไว้ได้ ได้จัดระเบียบเป็นหมวดหมู่ เป็นปิฎกต่างๆ หลังจากพระศาสดานิพพานแล้วเพื่อ เป็นหลักพระพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป
มีหลักฐานกำหนดลงได้ว่าในสมัยพระพุทธเจ้ายังไม่มีคำว่า พระไตรปิฎก มีแต่คำว่า ธรรมวินัย คำว่า พระไตรปิฎก หรือ ติปิฎก ในภาษาบาลีนั้นเกิดขึ้นมาภายหลังที่ทำสังคายนาแล้ว คำว่า พระไตรปิฎก กล่าวโดยรูปศัพท์ แปลว่า ๓ คัมภีร์ เมื่อแยกเป็นคำๆ ว่า พระ+ไตร+ ปิฎก คำว่า พระ เป็นคำแสดงความเคารพหรือยกย่อง คำว่า ไตร แปลว่า ๓ คำว่า ปิฎก แปลได้ ๒ อย่างคือ แปลว่าคัมภีร์หรือตำนานอย่างหนึ่ง แปลว่ากระจาดหรือตะกร้าอย่างหนึ่ง ที่ แปลว่ากระจาดหรือตะกร้า หมายความว่าเป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้เป็นหมวด หมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของ ฉะนั้น เมื่อทราบแล้วว่า คำว่าพระไตรปิฎกแปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก จึงควรทราบต่อไปว่า ๓ ปิฎกนั้นแบ่งออกดังนี้
(๑) วินัยปิฎก - ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี (๒) สุตตันตปิฎก - ว่าด้วยพระธรรม เทศนาทั่วๆ ไป (๓) อภิธัมมปิฎก - ว่าด้วยธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะที่สำคัญ.
ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
พระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ
๑. พระอานนท์ เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา ท่านออกบวชแล้วได้เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า พระอานนท์ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก
ท่านจึงมีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆ สืบมาจนทุกวันนี้
๒. พระอุบาลี เคยเป็นพนักงานรักษาภูษามาลาอยู่ในราชสำนักแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านออกบวช พร้อมกับพระอานนท์และราชกุมารอื่นๆ โดยได้รับเลือกจากเจ้าชายเหล่านั้นให้อุบาลีบวชก่อน พวกตนจะได้กราบไหว้อุบาลีตามพรรษาอายุเป็นการแก้ทิฐิมานะ ตั้งแต่เริ่มแรกในการออกบวช ท่านมีความสนใจกำหนดจดจำทางพระวินัยเป็นพิเศษ จนแม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญท่านด้วย ท่านจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับวินัยปิฎก จึงนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตรงในการช่วยรวบรวมข้อพระวินัยต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่เป็นหลักฐานมาจนทุกวันนี้
๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระไตรปิฎก แต่ประวัติของท่านมีส่วนเป็น หลักฐานในการท่องจำพระไตรปิฎก เรื่องของท่านมีปรากฎในพระสุตตันตปิฎกความว่า เดิมท่านเป็น อุบาสกคอยรับใช้พระมหากัจจานเถระ แล้วบรรพชาเป็นสามเณร อยู่ ๓ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ต่อมา ท่านได้เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ เชตวนาราม พระพุทธเจ้าตรัสเชิญให้พระโสณะกล่าวธรรม ซึ่งท่านได้กล่าวสูตรถึง ๑๖ สูตร อันปรากฏในอัฏฐกวัคค์จนจบ เมื่อจบแล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาสรรเสริญความทรงจำ และท่วงทำนองในการกล่าว เรื่องนี้เป็นตัวอย่างอันดีในเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกว่าได้มีการท่องจำกันตั้งแต่ ครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์อยู่
๔. พระมหากัสสป เป็นผู้บวชเมื่ออายุสูง แม้ท่านไม่ใคร่สั่งสอนใคร แต่ก็สั่งสอนคนในทางปฏิบัติ คือทำตัวเป็นแบบอย่าง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนาคือ ร้อยกรอง หรือจัดระเบียบพระวินัย นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่ง ในการทำให้เกิด พระไตรปิฎก
นอกจากพระไตรปิฎกจะเกิดขึ้นจากความปรารถนาของพระเถระ ๔ รูปนี้แล้ว พระพุทธเจ้า ยังได้เคยแนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์และทำสังคายนา เพื่อไม่ให้เกิดความแตกกัน เหมือนอย่างสาวกของนิครนถนาฏบุตร ที่แตกกันหลังจากผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิ สำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพ พระพุทธสุภาษิตที่แนะนำรวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ ถือได้ว่าเป็นเริ่ม ต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ ทำสังคายนาก็ดี ก็ต้องกล่าวถึงความปรารถนาดีของพระจุนทเถระ ครั้งแรกก็คือท่านได้เข้าพบพระอานนท์ เมื่อรู้เห็นเหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน ซึ่งพระอานนท์ ชวนให้เข้าเฝ้า พระพุทธเจ้า และพระผู้มีพระภาคทรงตรัสแนะให้ทำสังคายนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ครั้งหลังคือ เมื่อสาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีกขอให้กราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมอันเป็นหลักของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุ แห่งการทะเลาะวิวาท ๖ ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการ สุดท้ายทรงแสดงหลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่า สาราณิยธรรม ซึ่งการเข้าหาพระอานนท์ทั้ง ๒ ครั้งของพระจุนทเถระนี้คือ ความปรารถนาดีของท่าน ที่ห่วงใยใน ความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา
การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร ?
การสวดปาฏิโมกข์คือการ ว่าปากเปล่า หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย 150 ข้อ ในเบื้องแรก และ 227 ข้อในกาลต่อมาทุกๆ กึ่งเดือนหรือ 15 วัน เป็นข้อบัญญัติทางพระวินัยที่ให้พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าว ทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก 15 วัน ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดปาฏิโมกข์นี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการบังคับให้ท่องจำ ข้อบัญญัติทางพระวินัย แต่ไม่ใช่ทุกท่านสวดพร้อมกัน คงมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือคอยตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด
การสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำสืบต่อๆ มา ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระ พุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อๆ มาปรากฏมีการถือผิดตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนั้น ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไรแล้วก็ทำการสังคายนา แล้วจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลานก็เรียกว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิดเข้าใจผิดเกิดขึ้น การสังคายนาไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบชำระข้อถือผิดเข้าใจ ผิดได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันควรแม้เมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือผิดเข้าใจผิด
ปัญหาเรื่องการนับครั้งในการทำสังคายนา
ในปัจจุบันนี้ ทางประเทศพม่าถือว่า ตั้งแต่เริ่มแรกมามีการทำสังคายนารวม 6 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 6 พม่าจัดทำเป็นการใหญ่ ในโอกาสใกล้เคียงกับงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ แล้ว ฉลองพร้อมกันทีเดียว แต่ตามหลักฐานของพระเถระฝ่ายไทย ผู้รจนาหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ หรือประวัติศาสตร์การสังคายนากล่าวว่า สังคายนามี ๙ ครั้ง รวมทั้งครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงกระทำในรัชสมัยของพระองค์ คือการสอบทานแก้ไขพระไตรปิฎก แล้ว จารลงในใบลานเป็นหลักฐาน โดยอาศัยหลักฐานจากวินัยปิฎกเล่ม ๗ พร้อมทั้งอรรถกถา จากหนังสือมหาวงศ์ สังคีติยวงศ์ และบทความของท่าน B. Jinahanda ในหนังสือ 2500 Years of Buddhism ซึ่งพิมพ์ในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในอินเดียและหนังสืออื่นๆ อาจรวมการทำ สังคายนาและปัญหาเรื่องการนับครั้งเป็นหัวข้อได้ดังนี้
๑. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป
คือสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งทำในอินเดีย อันเป็นของฝ่ายเถรวาท กับอีกครั้งหนึ่งในอินเดียภาคเหนือ ซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงอุปถัมภ์ อันเป็นสังคายนาผสม รวมเป็น ๔ ครั้ง แต่ฝ่ายเถรวาทมิได้รับรู้ในการสังคายนาครั้งที่ ๔ นั้น เพราะการ สืบสายศาสนานั้นแยกกันคนละทาง ตลอดจนภาษาที่รับรองคัมภีร์ทางศาสนาก็ใช้ต่างกัน คือเถรวาทหรือศาสนาพุทธแบบที่ไทย พม่า ลังกา เขมร ลาว นับถือใช้ภาษาบาลี ส่วนของฝ่ายมหายาน หรือศาสนาพุทธแบบที่ญี่ปุ่น จีน ทิเบต ญวนและเกาหลีนับถือ ใช้ภาษาสันสกฤต การสังคายนาครั้งที่ ๑ กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต ใกล้กรุง ราชคฤห์ ประเทศอินเดีย พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางวินัย พระอานนท์เป็นผู้ตอบข้อซักถามทางธรรม มีพระอรหันต์ประชุมกัน ๕๐๐ รูป กระทำอยู่ ๗ เดือนจึงสำเร็จ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ สังคายนาครั้งนี้ กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้วได้ ๓ เดือน การสังคายนาครั้งที่ ๒ กระทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย พระยสะ กากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวนพระเถระที่เป็นผู้ใหญ่ร่วมมือในการนี้ มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๗๐๐ รูป กระทำอยู่ ๘ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้กระทำภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี การสังคายนาครั้งที่ ๓ กระทำที่อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย พระโมคคลี บุตรติสสเถระเป็นหัวหน้า มีพระสงฆ์ประชุมกัน ๑,๐๐๐ รูป กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ สังคายนาครั้งนี้กระทำหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๒๓๔ ปี เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้วก็ ได้ส่งคณะฑูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ รวมทั้งพระมหินทเถระ ผู้เป็นโอรส พระเจ้าอโศก มหาราช ได้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกาเป็นครั้งแรก การสังคายนาครั้งที่ ๔ เป็นการสังคายนาผสมระหว่างนิกายสัพพัตถิกวาทกับฝ่าย มหายาน กระทำกันในอินเดียภาคเหนือ ด้วยความอุปถัมภ์ของพระเจ้ากนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ ณ เมืองชาลันธร แต่หลักฐานเรื่องสถานที่ และรายละเอียดอื่นๆ นั้น ปรากฏหลักฐาน ในที่ต่างๆ ไม่ตรงกัน รวมทั้งเหตุของการสังคายนาด้วย เช่น บางแห่งกล่าวว่าสังคายนาครั้งนี้ไม่เป็นการสังคายนา แต่เป็นการประชุมเพื่อให้มาโต้แย้งกับภิกษุเฮี่ยนจัง
๒. การนับครั้งสังคายนาของลังกา
หลังจากการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระมหินทเถระ ก็เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาใน ลังกา และในปี พ.ศ. ๒๓๘ ก็ได้ทำสังคายนาในลังกา นับเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา เหตุผลที่ อ้างในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น แต่เพราะการสังคายนาครั้งนี้ห่างจาก ครั้งที่ ๓ ในอินเดีย ประมาณ ๓-๔ ปี บางมติจึงไม่ยอมรับเป็นสังคายนาลังกา ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้รับรองการสังคายนาทั้ง ๓ ครั้งแรกใน อินเดีย แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่ ๔ การสังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. ๔๓๓ เพื่อจารึกพระพุทธวจนะลงใน ใบลาน มีจารึกว่าสังคายนาครั้งนี้กระทำที่อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท การสังคายนาครั้งนี้ได้ รับการรับรองโดยมติทั่วไป การสังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกา กระทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ที่รัตนปุระ ในลังกา การ สังคายนาครั้งนี้ น่าจะไม่มีใครรู้กันมากนัก นอกจากเป็นบันทึกของชาวลังกาเอง
๓. การนับสังคายนาของพม่า
การสังคายนาครั้งแรกในพม่า ต่อจากสังคายนาของลังกาที่จารึกลงในใบลาน สังคายนา ครั้งแรกของพม่านี้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ณ เมืองมันดเล ด้วย การอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรม ร่วมประชุม ๒,๔๐๐ ท่าน กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ สังคายนาครั้งที่ ๒ ในพม่า หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๖ เริ่มใน พ.ศ. ๒๔๙๗ และ สำเร็จใน พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยปิดงานร่วมกับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ การสังคายนาครั้งนี้มุ่ง พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถาและคำแปลเป็นภาษาพม่าโดยลำดับ เมื่อเสร็จแล้ว
ได้แจกจ่ายพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
๔. การนับสังคายนาของไทย
การสังคายนาในประเทศไทยซึ่งเรานับว่าเป็นครั้งที่ ๘ ในประวัติการสังคายนานั้น กระทำ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ โดยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงไตรปิฎกหลาย ร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎกในวัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เป็นเวลา ๑ ปี การสังคายนาครั้งที่ ๙ หรือครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงอาราธนาพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน ชำระพระไตรปิฎกสำเร็จใน ๕ เดือน
๕. การสังคายนาของฝ่ายมหายาน
ตามหนังสือพุทธประวัติและประวัติสังฆมณฑลสมัยแรกตามฉบับของทิเบต ซึ่งชาวต่าง ประเทศได้แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษสรุปได้ว่า ฝ่ายมหายานได้รับรองการสังคายนา ครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ ในอินเดียตามที่ได้กล่าวมาแล้วร่วมกัน โดยเหตุที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มักจะมีอะไรต่ออะไรต่างออกไปจากของเถรวาท เมื่อเกิดมีปัญหาว่าคัมภีร์เหล่านั้นมีมาอย่างไร ก็ มักจะมีคำตอบว่า มีการสังคายนาของฝ่ายมหายาน คัมภีร์เหล่านั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่สังคายนาซึ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิได้รู้ได้ฟังมาคนละสายกับฝ่ายเถรวาท ซึ่งมักจะพาดพิงไปถึงสังคายนาครั้งที่ ๑ และ ครั้งที่ ๒ คือมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งทำสังคายนาแข่งขันกับอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ๑. เมื่อมีการสังคายนาครั้งแรกที่พระมหากัสสปเป็นประธาน กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์นั้น มีคำกล่าวของฝ่ายมหายานว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มิได้รับเลือก ให้กระทำหน้าที่สังคายนาซึ่งมีพระมหากัสสสปเป็นประธาน ได้ประชุมกันทำสังคายนาขึ้นอีกส่วน หนึ่ง เรียกว่า สังคายนานอกถ้ำ และโดยเหตุที่ภิกษุผู้ทำสังคายนานอกถ้ำมีจำนวนมาก จึงเรียกอีก อย่างหนึ่งว่า สังคายนามหาสังฆิกะ คือของสงฆ์หมู่ใหญ่ แต่หลักฐานของการสังคายนา นอกถ้ำ ครั้งที่ ๑ นี้น่าจะเป็นการกล่าวสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการสังคายนาครั้งที่ ๒ หรือนัยหนึ่ง เอาเหตุการณ์ ในสังคายนาครั้งที่ ๒ ไปเป็นครั้งที่ ๑ คือ
๒. การสังคายนาของมหาสังฆิกะ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อภิกษุวัชชีบุตร ถือวินัยย่อหย่อน ๑๐ ประการ และพระยสะ กากัณฑกบุตร ได้ชักชวนคณะสงฆ์มาร่วมกันทำสังคายนา ในขณะเดียวกัน พวกภิกษุวัชชีบุตร ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ได้เรียกประชุมสงฆ์ถึง ๑๐,๐๐๐ รูป ทำสังคายนาของ ตนเองที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ให้ชื่อว่ามหาสังคีติ คือ มหาสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดนิกาย มหาสังฆิกะ ซึ่งแม้จะยังไม่นับว่าเป็นมหายานโดยตรง แต่ก็นับได้ว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการแตกแยก จากฝ่ายเถรวาท มาเป็นมหายานในกาลต่อมา
สรุปเวลาที่เกิดการสังคยนา
สังคายนาครั้งที่ ๑ ประมาณ พ.ศ. ๑ สังคายนาครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๑๐๐ สังคายนาครั้งที่ ๓ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ สังคายนาครั้งที่ ๔ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓
การชำระและจารึกกับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย
สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ เมื่อทำการฉลองสมโภชแล้วก็ได้ให้สร้างมณเฑียร ในวัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เพื่อประดิษฐานพระไตรปิฎก ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ตัวอักษรที่ใช้ใน การจารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้นคงเป็นอักษรแบบไทยลานนาคล้ายอักษรพม่า มีผิดเพี้ยนกันบ้าง และพอเดาออกเป็นบางตัว
สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพฯ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (คือวัด มหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ในปัจจุบัน) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๐ ใช้เวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตร ปิฎก ลงในใบลาน และให้แปลฉบับอักษรลาวอักษรมอญ เป็นอักษรขอม สร้างใส่ตู้ไว้ในหอมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ทุกพระอารามหลวง นอกจากนั้น ยังทรง ให้ช่างปิดทองแท่งทับทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัด ถักด้วยไหมแพรเบญจพรรณ มีฉลากงาแกะเขียนอักษรด้วยหมึกและฉลากทอเป็นตัวอักษรบอก ชื่อพระคัมภีร์ทุกคัมภีร์
สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ สาระสำคัญที่ได้กระทำ คือ คัดลอกตัวขอมในคัมภีร์ใบลานเป็นตัวไทย แล้วชำระแก้ไข และพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มหนังสือรวม ๓๙ เล่ม
สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓ เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ มีข้อที่พึงกล่าวถึงดังนี้
-
ได้ใช้เครื่องหมายและอักขรวิธีตามแบบของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งทรงคิดขึ้นใหม่
-
พิมพ์ ๑,๕๐๐ จบ พระราชทานในพระราชอาณาจักร ๒๐๐ จบ พระราชทานในนานาประเทศ ๔๕๐ จบ เหลืออีก ๘๕๐ จบ พระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก
-
การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งนี้ นับว่าได้เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ให้สมบูรณ์
-
ผลของการที่ส่งพระไตรปิฎกไปต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทย เพื่อสามารถอ่าน พระไตรปิฎกฉบับไทยได้ เช่น พระญาณติโลกเถระ ชาวเยอรมัน ที่ได้ชมเชยไว้ว่า ฉบับพระไตรปิฎกของไทยสมบูรณ์กว่าฉบับพิมพ์ด้วยอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ในอังกฤษเป็นอันมาก
-
ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้ทำอนุกรมต่างๆ ไว้ท้ายเล่มเพื่อสะดวกในการค้น แม้จะไม่สมบูรณ์แต่ก็มี ประโยชน์มาก
คัมภีร์นิสสัคคิยปาจิตติยวัณณนา (ทุติย) สมันตัปปาสาทิกา วินยัฎฐกถา ฉบับทองชุบ ไม้ประกับลายกำมะลอ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
===============================================
ลำดับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
๑. คัมภีร์ดั้งเดิมคือบาลี
เดิมพระพุทธพจน์อยู่ในลักษณะการจำแล้วบอกกันต่อๆ มา เมื่อมีการจารึกลงในใบลานจึงเกิดคัมภีร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่ากันว่า บาลีพระไตรปิฎกซึ่งรวบรวมไว้ดังนี้ (ดูหน้าถัดไป)
คัมภีร์ทั้งหมดนี้เรียกว่าคัมภีร์ดั้งเดิม (Original Pali) หรือบางทีเรียกว่าบาลีพุทธวจนะ (Canon)
๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๒ เรียกว่า อรรถกถา หรือ วรรณนา (Commentaries)
ซึ่งมีทั้งอรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ที่อธิบายต่อเนื่องกันจนตลอดก็มี ที่อธิบายเฉพาะคัมภีร์ๆ ก็มีเช่น
สมันตปาสาทิกา อรรถกถาประกอบ พระวินัย สุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกาย ปปัญจสูทนี มัชฌิมนิกาย สารัตถปกาสินี สํยุตตนิกาย มโนรถปูรณี อังคุตตรนิกาย ปรมัตถโชติกา ขุททกนิกาย ธัมมปทัฏฐกถา ขุททกนิกาย ปรมัตถทีปนี ขุททกนิกาย ชาตกัฏฐกถา ขุททกนิกาย สัทธัมมปัชโชติกา ขุททกนิกาย สัทธัมมปกาสินี ขุททกนิกาย วิสุทธชนวิลาสินี ขุททกนิกาย มธุรัตถวิลาสินี ขุททกนิกาย อัฏฐสาลินี ธัมมสังคณี สัมโมหวิโนทนี วิภังค์ ปัญจปกรณัฏฐกถา ธาตุกถาปัฏฐาน (ปรมัตถทีปนี)
อธิบายอรรถกถา เรียกว่า ฎีกา (Sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๓ ตัวอย่างเช่น
อธิบายสมันตปาสาทิกา เรียกว่า ฎีกาสารัตถทีปนี
ฎีกาอธิบาย พระอภิธรรม เรียกว่า อภิธัมมัตถวิภาวินี
อธิบายฎีกา เรียกว่า อนุฎีกา (Sub-sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๔ เช่น อนุฎีกาวิมติวิโนทนี ของพระวินัย เป็นต้น
๓. นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้นว่าด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์บาลี อธิบายศัพท์ต่างๆ รวมเรียกว่า สัททาวิเสส เป็นชื่อที่เรียกกันในวงการนักปราชญ์บาลีฝ่ายไทย ดังปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททาวิเสสต่างๆ ด้วย โดยมี พระพุฒาจารย์ เป็นแม่กอง เช่นมูลกัจจายนปกรณ์ รูปสิทธิธาตุปทีปิกา อภิธานัปปทีปิกา และสูจิ เป็นต้น
พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน ส่วนอรรถกถาแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ ส่วนฎีกาแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗ คัมภีร์อนุฎีกานั้น แต่งขึ้นภายหลังฎีกายุคต่อๆ มาเป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑ เมื่อพิจารณาตามหลักพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าถือโดยอ้างตำรา เพราะอาจผิดพลาดตกหล่น หรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์แก่ใจตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวาง และให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้นๆ ด้วยตนเอง แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้ มิให้ติดตำราจนเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และเข้าใจ ในพระไตรปิฎก จึงเป็นลำดับแรก เรียกว่า ปริยัติ การลงมือทำตามโดยควรแก่จิต อัธยาศัย เรียกว่าปฏิบัติ การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้นๆ เรียกว่า ปฏิเวธ"
อ่านต่อ..คลิก
|