**


1.การทำสมาธิ

การทำสมาธิ ทำเพื่อให้จิตสงบ หลีกเร้นจากความฟุ้งซ่าน และเป็นการเตรียมพลัง เหมือนเราชาร์ตแบตตอรี่ในเวลากลางคืนแล้วพอตอนเช้าก็เอาไปใส่โทรศัพท์มือถือ ทำให้ใช้งานได้ไปตลอดวัน

การทำสมาธิ ไม่ได้นั่งเพื่อจะเห็นอะไร ไม่ได้นั่งเพื่อถอดจิตไปไหน แต่นั่งเพื่อให้ใจสงบ ให้สติกินข้าว สติจะได้มีแรง

หลวงพ่อชาบอกว่า "นั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง จะเย็นไปได้ 3 วัน" เพราะฉะนั้น ถ้าเรานั่งทุกวันติดต่อกัน ก็จะเย็นไปเป็นปี ถ้าใครนั่งไม่ได้ ก็นั่ง 10 นาที จะเย็นไปได้ 1 วัน

ตอนนั่งสมาธิ เราจะรู้สึกว่ามีเรื่องหลายเรื่องมากกว่าตอนไม่ได้นั่ง เรื่องอะไรไม่รู้เข้ามาตีกันเต็มในหัว แต่แม้กระนั้นก็ให้ลองสังเกตดูว่า ในท่ามกลางความยุ่งเหยิงในสมองเป็นเวลา 10 นาทีนั้น ถ้าทำทุกวัน ยังจะปรากฏความเย็นได้ 1 วัน นอกเวลานั่งสมาธิได้ คือ มันยังให้ผลอยู่ได้เหมือนกัน ก็แปลกดี แต่จริง

2. ทำสมาธิโดยการนั่งสมาธิ

การนั่งสมาธิ มี 2 จุดประสงค์

1. นั่งสมาธิเพื่อให้จิตสงบ ได้พักจิตใจ นั่งโดยการดูลมหายใจ ตั้งจิตอยู่ที่รูจมูก สังเกตลมที่กระทบตอนเข้าและออก บางคนบริกรรมด้วย เมื่อจิตสงบ บางทีคำบริกรรมจะหายไป ก็ให้หายไป บางทีสงบจนลมหายใจละเอียดแผ่วเบา เหมือนไม่ได้หายใจ

การนั่งให้จิตสงบอย่างนี้ เรียกสมถะภาวนา

2. วิปัสสนา เป็นการดูจิตเพื่อเจริญปัญญา จิตจะเจริญของเขาเอง แล้วแต่เขาจะหยิบยกธรรมใดขึ้นมาพิจารณา โดยก่อนหน้านั้นผู้ปฏิบัติเพียงแต่เจริญสติสัมปชัญญะเท่านั้น แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาถึงวิธีปฏิบัติที่ละเอียดมาก จึงจะถึงขั้นนี้ได้ หลักการดูจิตขอแนะนำให้ท่านผู้อ่าน ศึกษาจากหนังสือของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลักของท่านว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"

มักมีผู้เล่าให้ฟังว่า คนนั้นนั่งสมาธิแล้วเห็นอะไรต่ออะไร บางทีก็เล่าด้วยความชื่นชม บางคนเลยไปถึงว่าบรรลุแล้ว ความจริงการได้เห็นไม่ใช่จุดประสงค์ของสมถะภาวนา เพราะสมถะภาวนาต้องการความสงบ และไม่ใช่จุดประสงค์ของวิปัสสนา เพราะวิปัสสนาต้องการรู้ไตรลักษณ์ เพื่อให้จิตหลุดพ้น แต่การเห็นอะไร ๆ นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ได้มาตามทาง

เหมือนกับเราจะเรียนทำกับข้าว กว่าจะไปถึงเคล็ดลับการปรุงอันเป็นสูตรสุดยอด ก็ต้องผ่านการเป็นลูกมือ รู้ว่าหั่นหัวหอมยังไงไม่ให้น้ำตาไหล คั้นกะทิเป็น คือได้ความรู้ตามเส้นทางที่ผ่านติดตัวมาบ้าง การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน

สิ่งที่จะได้ติดไม้ติดมือไปก่อนจะถึงจิตขั้นสูงก็มี เช่น รู้วาระจิตของคนอื่นได้ เป็นต้น แต่การเห็นอะไรที่ตื่นเต้นกันั้น กลับเป็นตัวหลอกให้หยุดการเดินทาง ให้มัวเพลินอยู่กับมัน เหมือนกับจะไปดอนเมืองขึ้นเครื่องบิน พอผ่านแดนเนรมิตก็แวะดูปราสาทเจ้าหญิงนิทราเพลิน เลยเลิกเดินทางไปดอนเมืองเสียแล้ว เป็นตัว

หลอกให้หลงเอาไว้เพื่อไม่ให้เราไปต่อ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล สอนว่า

"เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่าย ๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง "

"ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"

ฉะนั้น ใครที่อยากเห็นอะไร หรือเห็นแล้วดีใจเข้าไปเห็นอยู่เรื่อย ก็ควรรู้ว่ามันไม่ประโยชน์แก่ตัวเรา เพราะการเห็นนั้น ไม่ได้พาตัวเราพ้นทุกข์ไปไหนเลย

ขอสรุปช่วงนี้ ด้วยคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ดังนี้

"เวลาภาวนา อย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำรับตำรา อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ จิตของเราสงบ เราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มาก ๆ เข้าเวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไร ๆ ให้มันออกจากจิตของเรา

ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกจากจิตเองนั่นแหละดี คือ จิตมันสงบ

ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา เราจะได้รู้จักว่า พุทโธนั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง……..เท่านั้นแหละไม่มีอะไรมากมาย"

3. ทำสมาธิโดยสวดมนต์

สำหรับคนที่ยังไม่เคยทำสมาธิ และมีความเครียดอยู่มาก จะผ่อนคลายความเกร็งต่อการนั่งสมาธิ หันไปเป็นการสวดมนต์แทนก็อาจจะช่วยได้ ทำให้จิตใจเกิดสมาธิได้อีกแบบหนึ่ง

คุณหมอชินโอสถ หัสบำเรอ ได้แนะนำให้ผู้ป่วยที่ไม่เคยทำสมาธิมาก่อน ให้ทำสมาธิด้วยการแผ่เมตตา วิธีนี้นอกจากจะทำให้จิตใจสงบแล้ว ยังเป็นการแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์อีกด้วย

วิธีทำที่คุณหมอสอนคือ ให้ว่านะโม 3 จบ ต่อด้วยคำสวดระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย 3 จบแล้วจึงต่อด้วยการสวดแผ่เมตตา ต่อด้วยแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขา

วิธีสวดช้า ๆ และให้หายใจเข้า – ออกตามที่กำหนดไว้ การสวดดังกล่าวถ้าสวดแบบท่องจำจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที ถ้าสวดช้า ๆ แบบกำหนดลมหายใจอาจใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่ง 15 นาที - 1 ชั่วโมงเป็นเวลานานพอที่จะทำให้จิตใจสงบ

การปฏิบัติ

เวลาและสถานที่ : ตามความเหมาะสมในยามอยู่ว่าง ๆ และก่อนนอน

ก่อนสวด : ให้ไหว้พระสวดมนต์ตามปกติ แล้วว่า นะโม 3 จบ ต่อด้วย

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ตติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สวดคำเมตตาตนก่อน

อหัง สุขิโต โหมิ ขอข้าพเจ้าจงมีความสุข

นิททุก โข โหมิ ขอข้าพเจ้าจงไม่มีทุกข์

อเวโร โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีเวร

อัพพะยาปัชโฌ โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียน

อะนีโฆ โหมิ ขอข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีทุกข์

สุขี อัตตานัง ปริหะรามิ ขอข้าพเจ้าจงทำตนให้มีความสุข

สัพเพ สัตตา อะเวรา ขอสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีเวรต่อกัน

อัพพะยาปัชฌา อะนีฆา ไม่เบียดเบียดกัน ไม่มีทุกข์

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ทำตนไห้มีความสุข

1. สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนต
ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขเถิด ( แผ่เมตตา )

2. สัพเพ สัตตา ทุกขา ปมุจจันตุ
ขอสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากความทุกข์เถิด ( แผ่กรุณา )

3. สัพเพ สัตตา มา ลัทธสัมปัตติโต วิคัจฉันตุ
ขอสัตว์ทั้งหลาย อย่าได้ปราศจากสมบัติที่ตนได้แล้วเลย ( แผ่มุทิตา )

4. สัพเพ สัตตา กัมมัสสกา
สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน ผู้ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ( แผ่อุเบกขา )

เนื่องจากภาษาที่สวดเป็นคำยาก การสวดได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นที่ตั้ง จึงเหมาะกับผู้ต้องการเริ่มต้น ก็คือเป็นอุบายให้เราอาศัยไปสู่การมีสมาธิ

4. ทำสมาธิโดยฟังธรรม

สำหรับใครที่รู้สึกว่ายังยากอยู่ แต่ก็อยากทำสมาธิด้วย ก็ให้หาเทปธรรมะมาฟัง ลงนั่งสงบฟังครั้งละม้วน โดยไม่ทำอะไรควบคู่ไปด้วย ใจจดจ่อฟังให้รู้เรื่อง ก็จะมีสมาธิได้เหมือนกัน ถ้าฟังแล้ว เผลอหลับไป ก็จะรู้สึกว่าหลับลึก และหลับสงบ ไปจนเช้าไม่ใช่ฝันสับสน หนีผี หรือเจองูให้วุ่นวายไป

เทปธรรมะนี่มีเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ ฟังซ้ำได้ และเวลาฟังซ้ำมันจะได้ข้อคิดอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ เพราะเวลาฟังบางช่วงเราก็เผลอไป หรือวันนี้เรามีเรื่องมากระบทใจใหม่ ๆ มาฟังก็ได้คำที่มาช่วยให้คิด ซึ่งเป็นคำที่วันก่อนเราอาจไม่สนใจ ดังนั้น เวลาเรามีเทป 1 ม้วน อย่าเพิ่งคิดว่า อ๋อ ม้วนนี้ฟังแล้ว ไม่ต้องฟังอีก ทำให้เป็นภาระหาม้วนใหม่ไม่รู้จบ บางทีฟังแล้วก็ยังฟังใหม่ได้เรื่อย ๆ นี่เป็นเคล็ดลับที่ต้องบอกกัน เป็นของแถม

แต่ละคนมีวิธีทำสมาธิแตกต่างกันไปแล้วแต่ใจชอบ มีหนังสือเกี่ยวกับการสอนทำสมาธิมากมายให้หาอ่าน ทำบ้างเล็กน้อยก็ยังดี จะรู้สึกสดชื่น สมองปลอดโปร่ง และความจำดีแล ฯ


สรุป

ฉันพบว่าเมื่อเข้าใจและเห็นภาพของหลักธรรมตามหัวข้อทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ก็ดูจะเป็นการตั้งหลักที่ดี ในอันที่จะมีศาสนาอยู่ในตัวเรา หลังจากนี้ไปก็อ่านหรือศึกษารายละเอียดอย่างอื่นเสริมต่อให้จิตใจประณีตยิ่งขึ้น แต่เมื่อมีหลักแล้ว ก็เหมือนเดินอยู่ในบ้านของตนเอง คือรู้ว่าห้องใดเดินไปทางไหน อยู่ชั้นไหน เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าไปในห้องนั้นแล้ว การจะดูรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์ในห้อง ก็ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร

คนที่ศึกษาธรรมะใหม่ ๆ จะรู้สึกเหมือนว่ากำลังจะได้พบอะไรที่ยากและมากมหาศาล คงจะทำไม่ได้หรือกลัว เพราะศาสนาพุทธค่อนข้างจะเป็นเรื่องสวนกระแสชีวิต จะรักก็บอกไม่ให้รัก รักแล้วเป็นทุกข์ ทุกข์แล้วอยากร้องไห้ ก็บอกว่าให้มองเป็นธรรมดาอย่าร้องไห้เลยลูก พอทุกข์หนัก อยากจะหันมาหาที่พึ่ง ก็บอกว่า ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน แหม ! ใหม่ ๆ ก็รู้สึกว้าเหว่เหลือเกิน ทำอย่างนี้มันก็รู้สึกทำยาก แต่ถ้าศึกษาไปแล้วกลับรู้สึกสนุก และมีอะไรเล่าให้เราฟังเยอะเลย ทั้งมีนิทานชาดกมากมายที่ให้คติสอนธรรมหลากหลาย

เมื่อเราปฏิบัติธรรม ทำความเห็นให้ถูกตรง เห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว เห็นบุญเป็นบุญ เห็นบาปเป็นบาป ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เห็นแค่นี้ก็เป็นบุญแล้ว และเมื่อเรามีความเห็นถูก ความคิดก็ถูกไปด้วย ทำให้เราพูดดี ทำดี ทำอาชีพสุจริต มีความเพียรพยายามในทางที่ดี มีสติ มีสมาธิ คือ มรรคมีองค์ 8 จะขยับตามไปทุกขั้นตอน

แล้วส่งผลให้เรา ทำดี เว้นชั่ว ทำใจให้ผ่องแผ้ว ตามไปด้วย เพราะเมื่อเห็นบาปเป็นบาปได้แล้ว เราคงไม่อยากไปทำบาปอยู่แล้ว เมื่อทำดี ก็มีจิตใจดี ทำให้ใจก็ผ่องแผ้ว

เรารู้หลักปฏิจจสมุปบาทว่าทำให้เป็นทุกข์ มีตัว ตัณหาความอยากได้ เป็นตัวตั้งตัวตี เราก็คอยปลง คอยวาง อย่าให้มันอยากได้มากนัก ตัด ๆมันเสียบ้าง ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์

เรามองให้เห็นความทุกข์อันเกิดจากความ ไม่เที่ยง เราก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่น ไปพยายามยื้อให้อะไร ๆมันเที่ยง ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์

คิดถึง ความไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ดูแลรักษาไปตามหน้าที่ของโลก แต่ใจให้เห็นตามสัจธรรม ก็คลายความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางลงได้ เมื่อใด ก็ไม่เป็นทุกข์

ทุกอย่างนี้เมื่อเราปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา เราก็จะไม่เป็นทุกข์

จะเห็นได้ว่า ทุกข้อ สรุปลงที่ " ไม่เป็นทุกข์ " เพราะนั่นคือจุดหมายของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า " เราสอนเรื่องความทุกข์ และการดับทุกข์เท่านั้น "

อาจารย์วศิน อินทระ อธิบายว่าการปฏิบัติธรรม อย่างไรจึงจะถูกต้อง ดังนี้

1. ทำดี ไม่เอาดี ไม่หวัง ไม่รอ ไม่อยาก ให้ใครชม

2. ทำความดีเพื่อความดี ให้ผลหรือไม่ เป็นหน้าที่ของกรรม ไม่ใช้หน้าที่ของเรา เหมือนปลูกต้นไม้ เรามีหน้าที่รดน้ำต้นไม้ส่วนการจะให้ดอกผลหรือไม่ เป็นหน้าที่ของต้นไม้ เราต้องไม่เป็นทุกข์เพราะการทำดี ถ้าทำดีแล้วผิดพลาด เราก็ไม่ทุกข์ แต่เอามาเป็นบทเรียน

3.ทำดีเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดี                                                                                             
                                  


 
 

 


 ธรรมะมีหมอดู
 

 
ชมรมบ้านโหรเทวเทพ    


หมอดูแม่นๆ