**
  



   ธรรมะ : กฏธรรมชาติ

วิทยา ศาสตร์ หมายถึง องค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ที่ได้ผ่านการสังเกต ทดลอง ทดสอบ และวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีปัจจัยเกี่ยวข้องเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน และพิสูจน์จนยอมรับว่าถูกต้องเป็นจริงตามหลักธรรมชาติ


ธรรมะ จึงเป็น ศาสตร์ ที่ชี้ให้ผู้ที่ศึกษา ได้รู้ถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์


ไตรลักษณ์ หรือ กฏธรรมชาติ คือ ลักษณะสามัญของสรรพสิ่งซึ่งมีลักษณะประกอบกัน 3 ประการ คือ

  1. อนิจจัง - กฏแห่งการเกิดขึ้น ความไม่เที่ยง
  2. ทุกขัง - กฏแห่งการเสื่อมไป เดินไปสู่การแตกสลาย ความไม่คงที่
  3. อนัตตา - กฏแห่งการเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นจากที่เป็นอยู่แล้ว ความไม่มีตัวตน ไม่เหลือตัวตนให้เห็น ความไม่เที่ยง แตกสลายดับไปได้

อันบัญญัติขึ้นเพื่อ ขันธ์ 5 หรือ สภาพ 5 ส่วนที่ประกอบกันจนเกิดเป็นสรรพสิ่งในธรรมชาติ คือ

  1. รูป คือ ส่วนที่เป็นสภาพ สสาร รูปร่าง วัตถุ
  2. เวทนา คือ ส่วนของความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังการรับรู้ ความรู้สึก ทุกข์ สุข หรือ ไม่สุข
  3. สัญญา คือ ส่วนที่จำได้ หมายรู้ในอารมณ์ 6 (นั่นคือ รูปะ - รูปหรือสิ่งที่เห็น, สัททะ - เสียง, คันธะ - กลิ่น, รสะ - รส, โผฎฐัพพะ - สิ่งที่ถูกต้องหรือสัมผัสกาย, ธรรม หรือ ธรรมารมณ์ - อารมณ์หรือความนึกคิดที่เกิดกับใจ)
  4. สังขาร คือ ส่วนที่ปรุงแต่งจิต
  5. วิญญาณ คือ ส่วนที่มารับรู้อารมณ์ที่เกิดจากการกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ซึ่งถือเป็นระบบสมมุติ เรียกว่า สังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปรุงแต่งได้ ประกอบด้วย

  1. อุปปาโท ปัญญายติ มีการเกิดปรากฏ
  2. วะโย ปัญญายติ มีการเสื่อมปรากฏ
  3. ฐิตัสสะ อัญญะฐัตตัง ปัญญายติ เมื่อตั้งอยู่ มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ

ส่วนระบบวิมุตติ หรือ นิพพาน เรียกว่า อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปรุงแต่งไม่ได้ ประกอบด้วย

  1. นะ อปุปาโท ปัญญายติ ไม่ปรากฏการเกิด
  2. นะ วะโย ปัญญายติ ไม่ปรากฏการเสื่อม
  3. นะ ฐิตัสสะ อัญญะฐัตตัง ปัญญายติ เมื่อตั้งอยู่ ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ

ธรรมชาติและสรรพสิ่งมีการเกิดและการดับ การที่ผู้ใดเฝ้ามองเฝ้าสังเกตเห็นธรรมชาติและสรรพสิ่งที่เกิดและดับไปอยู่ ตลอดเวลา โดยไม่เห็นสาระสำคัญในความเห็นหรือการรับรู้ซึ่งการเกิดการดับเหล่านั้น ไม่ อยากรู้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางได้ เนื่องจากเข้าใจถึงความเป็นรูปกับนาม กายกับจิต และอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งไม่เที่ยง เข้าใจว่าสิ่งที่เรามีอยู่ครองอยู่นั้นแตกสลายดับไปได้ เรียกว่าผู้นั้น กำลังเข้าถึงสภาวะที่ไม่เกิดไม่ตาย ไม่ได้แตกสลาย ไม่ดับ เนื่องจากจิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย จิตดำรงอยู่ในสภาวะวิมุตติหรือนิพพาน จิตไม่หวาดสะดุ้ง จิตรู้ว่า การเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์สิ้นแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ควรทำไม่มีอีกแล้ว การที่จิตจะสามารถมาอยู่ที่สภาวะนี้ได้ ผู้นั้นต้องเจริญสติ


มหาสติปัฏฐานสูตร คือ พระสูตรที่ว่าด้วยการเจริญสติไปสู่ความพ้นทุกข์ อันประกอบด้วย 4 หมวดใหญ่ คือ

  1. การตามดูรู้เท่าทันกายภายนอก (รูปร่าง สัญฐาน กาย) และกายภายใน (ลมหายใจ) ว่าตกอยู่ในกฏไตรลักษณ์
  2. การตามรู้เท่าทันเวทนา ว่าตกอยู่ในกฏไตรลักษณ์ ด้วยใจที่เป็นกลาง วางเฉย
  3. การตามดูรู้เท่าทันจิตในลักษณะต่าง ๆ จนเห็นตามกฏไตรลักษณ์
  4. การตามดูรู้เท่าทันธรรม สังเกตสภาวธรรมที่เกิดขึ้นทางกาย เวทนา จิต ด้วยใจที่เป็นกลาง ว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร มีสภาวะผันแปรอย่างไร ดำรงอยู่อย่างไร โดยไม่ไปวิพากษ์ วิจารณ์ ตัดสิน หรือคัดสรร จนเกิดความโล่งโปร่งทางจิต ปล่อยวางความยึดติดถือมั่นในกาย เวทนา จิต ธรรมได้อย่างสมบูรณ์

การเจริญสติสามารถปฏิบัติได้ในทุกที่ ทุกขณะ นั่นคือ นำสติไปกำกับทุกครั้งที่คิด ทุกงานที่ทำ ทุกคำที่พูด เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้อย่างต่อเนื่อง กายจะสงบ วาจาสงบ ใจสงบ ตระหนักรู้ถึงกฏไตรลักษณ์ และสามารถกลับมาดูความทุกข์ของตน ความผิดของตน และแก้ไขปัญหาตนเองได้ เมื่อแก้ไขปัญหาตนเองได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาทุกเรื่องได้ ใช้ชีวิตประจำวันอย่างบริโภคพอดี อยู่พอดี มีพอดี ประพฤติดี ปฏิบัติดี พูดดี และคิดดี
หากต้องการเข้าใจถึงกระบวนการเกิดขึ้นและดับไปของทุกข์ เราควรศึกษาหลักปฏิจจสมุปบาท
 
ปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมอันเป็นธรรมชาติ ว่าด้วยการเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลายที่อาศัยซึ่งกันและกัน อันเนื่องมาจากเหตุและปัจจัย กล่าวคือ เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป ไล่ไปตามลำดับ โดยปฏิจจสมุปบาท มีองค์ 12 ดังนี้

  1. อวิชชา คือ ความไม่รู้ในไตรลักษณ์ และ อริยสัจ 4 ทำให้ไปคลุกเคล้ากิเลศด้วยความเขลา
  2. สังขาร คือ การนึกคิดเพื่อปรุงแต่งกาย วาจา ใจ
  3. วิญญาณ คือ รู้จักจำแนกแยกแยะอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
  4. นามรูป คือ การปรากฏของนามธรรมและรูปธรรม กายและใจ
  5. สฬายตนะ คือ สภาวะที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัส หรือ เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์
  6. ผัสสะ คือ การรับรู้ปรากฏการณ์ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
  7. เวทนา คือ ความรู้สึก หรือ ทัศนคติภายหลังการรับรู้ อันได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา
  8. ตัณหา คือ ความทะยานอยาก ความปรารถนาใน กามตัณหา (หรือ ความอยากได้) ภพตัณหา (หรือ ความอยากเป็น) และ วิภวตัณหา (หรือ ความไม่เป็น)
  9. อุปาทาน คือ ความยึดติด ยึดมั่นถือมั่นในกาม ทิฏฐิ ลัทธิ พิธีการ วาทะ
  10. ภพ คือ การมีภาระหน้าที่ ภาวะทางใจ อันเป็นกระบวนการกำหนดพฤติกรรมให้สอดคล้องกับอุปทาน อันได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ
  11. ชาติ คือ การเกิดเป็นตัวตน เกิดอัตตา รับภพไว้ในครอบครอง แบกน้ำหนักตามบทบาทในกระบวนการพฤติกรรมที่กำหนดสมมุติไว้
  12. ชรามรณะ คือ ความเสื่อม ความสูญสลาย ความแตกดับแห่งตัวตน อันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์

ในเบื้องต้นเราได้กล่าวถึงไตรลักษณ์แล้ว ยังมี อริยสัจ 4 หรือ ความจริง 4 ประการ ซึ่งควรตระหนักถึง อันได้แก่

  1. ทุกข์ สภาพปัญหาในขอบเขตของไตรลักษณ์
  2. สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ อันได้แก่ ตัณหา
  3. นิโรธ สภาพการพ้นทุกข์ ละวางความยึดมั่นถือมั่น
  4. มรรค แนวทางการดับทุกข์

มรรควิธี หรือ แนวทางการดับทุกข์ มีความเหมาะสมในแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มรรควิธีที่เลือกปฏิบัตินั้นควรอยู่ภายใต้ มรรค 8
มรรค 8 สามารถจัดหมวดหมู่ได้เป็น ไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วย

  • ศีลสิกขา คือ การปฏิบัติรักษาศีล
  1. พูดชอบ
  2. กระทำชอบ
  3. ประกอบอาชีพชอบ
  • สมาธิสิกขา คือ การพัฒนาคุณภาพจิตให้สว่าง สะอาด สงบเยือกเย็น ประกอบด้วย
  1. ความเพียรพยายามชอบ
  2. ตั้งสติระลึกชอบ
  3. ตั้งจิตชอบ
  • ปัญญาสิกขา คือ รู้เข้าใจสรรสิ่งตามความเป็นจริง ประกอบด้วย
  1. ความเห็นชอบ
  2. ดำริริเริ่มชอบ

บางครั้งการที่เราได้เข้าใจธรรมชาติ ได้เรียนรู้ธรรมะ คิดปฏิบัติในทางที่ชอบ ย่อมมีส่วนช่วยให้กายสงบ วาจาสงบ ใจสงบในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้   



 


มีหมอดู
 

 
ชมรมบ้านโหรเทวเทพ


หมอดูแม่นๆ