Meemodo.com
ท่องเที่ยวทั่วไทย 
"ดูดวงแม่นๆโทร.088-555-9771 อ.รวีโรจน์ มีหมอดู"

    Side Menu

                            ภาคเหนือ

                            ภาคกลาง

                             ภาคอีสาน

                            ภาคตะวันออก

                             ภาคใต้

           แนะนำแหล่งท่องเที่ยว





                                                                                              

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม 


  
ข้อมูลทั่วไป ในอดีตชาวบ้านท้องถิ่นทำกินในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าภูผา น้อยคนนักที่จะเดินทางเข้าไปในป่าแห่งนี้ เนื่องจากมีความเชื่อว่า “ผาแต้มเป็นเขตต้องห้าม ภูผาเหล่านั้นมีความศักดิ์สิทธิ์นักเป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไปอาจเจ็บไข้ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต ” ปัจจุบัน พื้นที่ป่าภูผาแต้ม ได้ถูกเปิดเผยจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เมื่อคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มาทำการสำรวจค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบกับสภาพป่าในบริเวณใกล้เคียงยังอุดมสมบูรณ์อยู่ จึงได้ทำหนังสือบันทึกจากภาควิชาฯ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2524 เสนอต่อกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งป่าภูผาในบริเวณผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติได้บันทึกสั่งการ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2524 ให้ นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชการป่าไม้ 4 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้า อุทยานแห่งชาติดงหินกอง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ) ไปทำการสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติมผลการสำรวจปรากฏรายงาน ตามหนังสืออุทยานแห่งชาติดงหินกอง ที่ กส 0708 (ดก) /57 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2524 ว่า “ พื้นที่บริเวณที่ภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากรเสนอขอให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ อยู่ในบริเวณพื้นที่ป่าภูผาปรากฏภาพเขียนสีโบราณ ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม สภาพป่าบริเวณใกล้เคียงยังไม่ถูกทำลาย และมีจุดเด่นตามธรรมชาติที่สวยงาม การคมนาคมสะดวกเหมาะที่ตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยเห็นควรผนวกบริเวณดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานแห่งชาติดงหินกอง ”

กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 1162/2524 ลงวันที่ 13 กันยายน 2524 ให้นายเสงี่ยม จันทร์แจ่ม นักวิชาการป่าไม้ 4 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ (อุทยานแห่งชาติดงหินกองเดิม) ไปดำเนินการควบคุมดูแลรักษาป่าภูผาโดยให้พิจารณาผนวกเข้ากับ อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ทั้งนี้บริเวณภูผาดังกล่าวได้ถูกประกาศรวม กับบริเวณป่าใกล้เคียง ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติดงภูโหล่นตามกฎกระทรวงฉบับที่ 603 (พ.ศ.2516) ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2526 ต่อมากรมป่าไม้ ได้พิจารณาเห็นว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่คนละส่วน และอยู่ห่างไกลกับอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ ตลอดจนมีอาณาเขตกว้างขวาง เกรงว่าอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ จะดูแลไม่ทั่วถึง และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลตาม โครงการอีสานเขียว และกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการ จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ ที่ 991/2532 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2532 ให้ นายวรพล รัตนสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่นท้องที่ อำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 340 ตารางกิโลเมตร หรือ 212,500 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้ม และทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ด้วย

กรมป่าไม้โดยกองอุทยานแห่งชาติได้นำเรื่องราวดังกล่าวนี้ เสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 3/2432 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 ผ่านมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 และได้รับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษหน้า 90 – 92 เล่มที่ 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ให้เป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศไทย ต่อมาได้มีคำสั่งกรมป่าไม้ ให้นายศักดิ์สิทธิ์ พลทรัพย์ศิริ เจ้าหน้าที่บริหารงานป่าไม้ 7 ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานฯ คนที่ 2 ปัจจุบันมีคำสั่งให้นายอุทัย พรมนารี นักวิชาการป่าไม้ 7 ว ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ต่อจนถึงปัจจุบัน

ด้านท่องเที่ยวผจญภัย
เส้นทางเดินป่าระยะไกล
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นพื้นที่มีความหลากหลายของนานาชีววิทยา มีธรรมชาติที่สวยงาม เหมาะแก่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ โดยมีเส้นทาง ต่อไปนี้
เส้นทางที่ 1 จากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติผาแต้ม หน่วยที่ 4 (ห้วยทราย) ถึงชุดปฎิบัติการพิเศษดงนาทาม หน่วยที่ 5 (ดงนาทาม) มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ ถ้ำปาฎิหาริย์ หินเต่าชมจันทร์ น้ำตกกิ้ต น้ำตกซะปัน ตาน้ำ ผลาญหินถ้ำไฮ เสาเฉลียงคู่ โหง่นแต้ม เนินสนสองใบ ผาชะนะได น้ำตกห้วยพอก ผากะปั่น ผาหินแตก ถ้ำฝ่ามือแดง น้ำตกกวางโตน น้ำตกซ้อย สวนหินภูกระบอ(มีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์) ภูโลง(สถานที่ทำพิธีศพของมนุษย์ถ้ำ และโลงศพโบราณ)
เส้นทางที่ 2 จากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติผาแต้ม หน่วยที่ 3 (คันท่าเกวียน) ถึงชุดปฏิบัติการพิเศษดงนาทาม หน่วยที่ 5 (ดงนาทาม) มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ คือ น้ำตกแสงจันทร์หรือน้ำตกลงรู น้ำตกทุ่งนาเมือง น้ำตกห้วยนาเมืองใหญ่ ภูน้ำถ้ำ ผาหินฝน ถ้ำโบกโลง เสาเฉลียงภูจ้อมก้อม หินโยกมหัศจรรย์ ผาแดง(มีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์)

ด้านธรรมชาติที่สวยงาม
แก่งมโนราห์
เป็นลำห้วยที่มีแก่งหินโผล่เป็นระยะๆ เมื่อน้ำไหลจะกระทบหินก่อให้เกิดเป็นน้ำตกขนาดเล็กๆ และสวยงาม ลำห้วยมีความกว้าง และความลึกพอดีที่จะทำการล่องแก่ง และพายเรือยางพจญภัย รวมทั้งสามารถใช้ห่วงยางเล่นน้ำได้ อย่างสนุกสนาน ประกอบกับสถานที่ดังกล่าวอยู่ติดกับแหล่งท่องที่ยวที่มีชื่อเสียงและกำลังได้รับความนิยมของแหล่งท่องเที่ยว เช่น น้ำตกแสงจันทร์ ป่าดงนาทาม ผาชะนะได สามารถเดินทางถึงแหล่งท่องเที่ยว ได้โดยสะดวก

ชมตะวันขึ้นก่อนใครที่ ผาชนะได 
เป็นป่าสนสองใบตามธรรมชาติที่ขึ้นอยู่บริเวณหน้าผา เมื่อมองทะลุป่าสนสองใบจะเห็นภูเขาทะมึนสลับซับซ้อนของประเทศลาว เป็นฉากอยู่ข้างหลังตัดกับท้องฟ้าที่อยู่ด้านบน และลำน้ำโขงที่อยู่ด้านข้าง เป็นจุดพยากรณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น ของกรมอุตุนิยมวิทยา

ทุ่งดอกไม้ป่า บริเวณน้ำตกสร้อยสวรรค์ ทุ่งดอกไม้ป่าเป็นจุดท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจในธรรมชาติของพันธ์ดอกไม้ป่าพันธุ์ต่าง และเป็นดอกไม้ป่าที่สมเด็จฯพระนาเจ้าพระบรมราชินีนาถพระราชทานนาม ดอกไม้ป่าไว้ 5 ชนิด ได้แก่ ดุสิตา สร้อยสุสวรรณา ทิพเกสร มณีเทวา สรัสจันทร พันธุ์ดอกไม้ป่านี้จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ดอกไม้ป่าจะบานเต็มที่ ช่วงปลายเดือน พฤศจิกายน ถึงปลายเดือน ธันวาคม ของทุกปี

น้ำตกสร้อยสวรรค์ บริเวณห้วยสร้อย 
จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้มไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2112 อีกประมาณ 15 กิโลเมตร ก็จะถึงน้ำตกสร้อยสวรรค์ เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก เกิดจากลำธาร 2 สาย คือ แซสร้อย และแซไผ่ ไหลตกลงมาบรรจบกันดูลักษณะคล้ายสายสร้อย บริเวณริมลำธารมีพลาญหินซึ่งในช่วงปลายฝนต้นหนาว จะมีดอกไม้หลากสีสันออกดอกงดงามเต็มลานหิน

น้ำตกแสงจันทร์ 
อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติตามหมายเลขทางหลวงที่ 2112 ประมาณ 30 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปน้ำตกทุ่งนาเมือง น้ำตกแห่งนี้มีลักษณะพิเศษคือ เมื่อสายน้ำตกจากผาลงมาแล้ว จะไหลลับหายไปในซอกหิน ชาวบ้านเรียก น้ำตกลอดรู ส่วนน้ำตกแสงจันทร์มีทางเดินเท้าไปอีกไม่ไกลนัก สายน้ำตกลงมาจากช่องโพรงของเพิงผา บางคนเรียกว่า น้ำตกลงรู

เสาเฉลียงคู่ 
เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ สายลมและแสงแดดมีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งขึ้น มีส่วนบนเป็นแผ่นหินวางอยู่โดยไม่ติดกัน มองดูคล้ายดอกเห็ด อุทยานแห่งชาติมีเสาเฉลียงให้ชม 2 จุด จุดที่ชมได้ง่ายอยู่ก่อนถึงผาแต้ม 1 กิโลเมตร กับเสาเฉลียงที่ต้องเดินทางขึ้นเหนือไปทางบ้านผาชันอีกราว 70 กิโลเมตร

หาดวิจิตตรา เป็นชายหาดที่ทอดยาวยื่นออกไปสู่กลางลำน้ำโขงเป็นหาดทรายสีดำ มีพื้นที่ที่สวยงามในยามเช้า และช่วงเวลาตะวันตกจะมองเห็นวิวเกาะ บวกกับแสงตะวันกระทบพื้นน้ำกลางลำน้ำโขง ในช่วงฤดูหนาว ถึงฤดูร้อนจะมีความสวยงามน่าชม พร้อมสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน รอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ได้แก่บ้านหนองผือน้อย บ้านกุ่ม และบ้านตามุย สถานที่ตั้งห่างจากอุทยานแห่งชาติผ่แต้ม 4 กิโลเมตร รถยนต์สามารถเข้าถึงได้ เป็นเส้นทางริมโขง มองจากเส้นทางด้านล่างจะเห็นแนวหน้าผาจุดชมวิวผาแต้ม นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเที่ยวชมหาดได้ในช่วงฤดูหนาว และฤดูร้อนเท่านั้น

แหล่งกำเนิดแม่น้ำโขง 
แม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดจากบริเวณที่ราบสูงธิเบต แถบเทือกเขาตังกุลา (Tanggula) มณฑลชิงไห่ (Qinghai) ประเทศจีน ไหลผ่านมณฑลยูนานและออกจากประเทศจีนที่เมืองเชียงรุ้ง (Cheingrong) เป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศพม่า เป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศพม่ากับประเทศลาว รวมทั้งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงตอน คือ ช่วงตอนบนกั้นพรมแดนระหว่างพื้นที่จังหวัดเชียงรายของประเทศไทยกับพื้นที่แขวงบ่อแก้วของประเทศลาว แล้วไหลเข้าประเทศลาวที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว กลับมาไหลออกจากประเทศลาวอีกที่เมืองสานะคาม กำแพงนครเวียงจันทน์ และเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาวในช่วงตอนล่าง ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างพื้นที่ 6 จังหวัดของประเทศไทยได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี กับพื้นที่ของประเทศลาวได้แก่ กำแพงนครเวียงจันทน์ แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน แขวงสะหวันนะเขต แขวงสาละวัน และแขวงจำปาสัก จากนั้นไหลเข้าไปในประเทศลาวอีกตอนหนึ่งที่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก
แล้วไหลออกจากประเทศลาวที่เมืองโขง แขวงจำปาสัก เข้าสู่ประเทศกัมพูชา ที่จังหวัด สตึงเตรง (Stung treng) ไหลออกจากประเทศกัมพูชาที่จังหวัดพนมเปญ (Phanom Phen) เข้าสู่ประเทศเวียดนามและแยกออกเป็นหลายสาย บริเวณที่เรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ มีความยาวตลอดสายรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,880 กิโลเมตร (จเร ศิลา 2537: รายงานการประชุม, สาธารณรัฐประชาชนจีน) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. อยู่ในประเทศจีน ประมาณ 2,130 กิโลเมตร
2. เป็นเส้นเขตแดนกั้นระหว่างจีน - พม่า ประมาณ 31 กิโลเมตร
3. เป็นเส้นเขตแดนกั้นระหว่างพม่า - ลาว ประมาณ 234 กิโลเมตร
4. เป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างไทย - ลาว ประมาณ 955 กิโลเมตร
5. อยู่ในประเทศลาว ประมาณ 789 กิโลเมตร
6. อยู่ในประเทศกัมพูชา ประมาณ 490 กิโลเมตร
7. อยู่ในประเทศเวียดนาม ประมาณ 230 กิโลเมตร ปัจจุบันแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดนกั้นระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ตอนแรกอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร และตอนที่ 2 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่จังหวัดเลยถึงจังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางประมาณ 832 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 917 กิโลเมตร

ลักษณะที่สำคัญของแม่น้ำโขงนั้น ตลิ่งทั้งสองฝั่งจะมีความสูงชันมาก กระแสน้ำจะไหลออกเหนือลงใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูแล้งกับฤดูฝนจะมีความแตกต่างกันมากถึง 14 เมตร ความเร็วของกระแสน้ำขึ้นอยู่กับฤดูกาล ซึ่งโดยปกติจะมีความเร็วของกระแสน้ำ ตั้งแต่ 2 - 12 นอต สภาพในลำแม่น้ำโขงจะมีลักษณะเป็นเกาะ หรือดอน หรือสันทราย และแก่งหินโขดหินปรากฎอยู่ทั่วไป โดยทวีขนาดและเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งดอนเหล่านี้ในช่วงระดับน้ำลดลงจะเหลือเพียงทางน้ำเล็ก ๆ เป็นเส้นกั้นเขตแดน หรือบางแห่งระดับน้ำตื้นเขินมากจนกลายเป็นผืนดินติดต่อกันกับฝั่งไทย โดยไม่มีทางน้ำให้เห็นแต่อย่างใด 

ผาแต้ม ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ 3,000 - 4,000 ปี เมื่อดูจากแม่น้ำโขง จะเห็นเป็นหน้าผาสูงที่สวยงามตามธรรมชาติ ในบริเวณที่เป็นหน้าผา จะปรากฏภาพเขียนสีโบราณโดยฝีมือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 3,000 - 4,000 ปี เรียงรายตามความยาวของหน้าผาติดต่อกันยาวประมาณ 180 เมตร มีไม่ต่ำกว่า 300 ภาพ ซึ่งเป็นจำนวนภาพเขียนสีโบราณ ที่มากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในประเทศไทยและในต่างประเทศ ลักษณะของภาพแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาพคนทำนา ภาพสัตว์ ภาพมือ ภาพลายเรขาคณิต และภาพตุ้ม (เครื่องมือจับปลาของชาวประมงริมโขง) ผาแต้มอยู่บริเวณเดียวกันกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

การเดินทาง      
รถยนต์ จากจังหวัดอุบลราชธานีไปยังอำเภอโขงเจียม ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร แล้วเดินทางไปตามเส้นทางยุทธศาสตร์สายโขงเจียม-เขมราฐ อีก 15 กิโลเมตร เลี้ยวขวาต่อไปอีก 5 กิโลเมตร จะถึงภูผาขาม ท้องที่บ้านหนองผือน้อย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม ซึ่งที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้มตั้งอยู่ ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสิ้นสุดบนลานภูผาขาม

บริการ
ท่านสามารถจองที่พัก-บริการได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต สามารถจองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือโทรติดต่อเจ้าหน้าที่สำรองที่พักทำการจองให้ที่หมายเลข 0 2562 0760 หรือติดต่อจุดจองที่พัก-บริการออนไลน์ในส่วนภูมิภาค หากต้องการดูรายละเอียดเพิ่มเติ่ม คลิกที่นี่

สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
ตู้ ปณ.5 ต.ห้วยไผ่  อ. โขงเจียม  จ. อุบลราชธานี   34220
โทรศัพท์ 0 4531 8026 ,0 4524 6332   โทรสาร 0 4524 6333   อีเมล PHATAEM_3@hotmail.com

 

Copyright (c) 2006 by Meemodo.com