งานไหว้ครูพระฤาษี ครอบครูปู่ฤาษี คาถาพ่อแก่   


 



โหราจารย์รวีโรจน์  วงศ์เสาร์

ศิษย์ปู่ฤาษีนารอด 

                                

           คาถาพระฤาษี คาถาปู่ฤาษี คาถาพ่อแก่                            

           "พุทธวันทิตวา ข้าพเจ้าของอาราธนาบารมีคุณ พระพุทธคุณนัง ธรรมคุณนัง สังฆคุณนัง วันทิตวา ข้าพเจ้าขออาราธนาบารมีคุณ พระสังฆคุณนัง อีกทั้งคุณพระบิดา พระมารดา พระอนุกรรมวาจา อุปัชฌาย์ครูบาอาจารย์ อีกทั้งพระฤาษีนารอด พระฤาษีนารายณ์ พระฤาษีตาวัน พระฤาษีตาไฟ พระฤาษีเกตุ พระฤาษีเนตร พระฤาษีมุชิตวา พระฤาษีมหาพรหมเมศ พระฤาษีสมุหวัน ทั้งพระเพชรฉลูกัน และนักสิทธวิทยา อีกทั้งพระคงคา พระเพลิง พระพาย พระธรณี พระอิศวรผู้เป็นเจ้าฟ้า ขออัญเชิญเสด็จลงมาประสิทธิพระพรชัย ให้แก่พวกข้าพเจ้าในเวลาวันนี้ ข้าพเจ้าขอเชิญเทพดาเจ้าทั้งหลายทั่วพื้นปถพีดล พระฤาษี ๑๐๘ ตน บันดาลดลด้วยสรรพวิทยา พระครูยา พระครูเฒ่า พระครูภักและอักษร สถาพรเป็นกรรมสิทธิ์ ให้แก่พวกข้าพเจ้าในเวลาบัดนี้เถิด

          ข้าพเจ้า ขออาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชิญเสด็จลงมาปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพเจ้าขอเชิญพระพรหมลงมาอยู่บ่าซ้าย ขอเชิญพระนารายณ์มาอยู่บ่าขวา ขอเชิญพระคงคาลงมาเป็นน้ำลาย ขอเชิญพระพายลงมาเป็นลมปาก ขอเชิญพญานาคลงมาเป็นสร้อยสังวาล ข้าพเจ้าขอเชิญพระอังคารมาเป็นด้วยใจ ถ้าแม้นข้าพเจ้าจะไปรักษาไข้แห่งหนึ่งแห่งใด ให้มีชัยชนะแก่โรค ขอจงประสิทธิให้แก่ข้าพเจ้าทุกครั้ง พุทธสังมิ ธรรมสังมิ สังฆสังมิ"
 

           ที่นำมากล่าวข้างต้นนั้นคือ บทไหว้ครู คาถาบูชาครูของเก่า .....
   
          คนไทยเราดูจะคุ้นกับฤาษีอยู่มาก เพราะตามพงศาวดารสมัยโบราณ หรือจดหมายเหตุเก่าๆ มักจะกล่าวถึงฤาษี อย่างเช่นฤาษีวาสุเทพกับฤาษีสุกกทันต์ ผู้สร้างเมืองหริภุญไชย และในคำไหว้ครูที่กล่าวถึงข้างต้น ได้ออกชื่อฤาษีแปลกๆ หลายชื่อ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า      

          นอกจากนี้ ในวรรณคดีต่างๆ ก็มักจะมีเรื่องของฤาษีแทบทุกเรื่อง เพราะพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินจะต้องไปศึกษาเล่าเ รียนกับฤาษี และฤาษีเป็นเจ้าพิธีการต่างๆ เป็นต้น

          ตำราของวิชาการหลายสาขา เช่น ดนตรี แพทย์ ก็มีเรื่องของฤาษีมาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ดังจะเห็นว่าพวกดนตรีและนาฏศิลป์เคารพบูชาฤาษี แพทย์แผนโบราณก็มีรูปฤาษีไว้บูชา ดังนี้เป็นต้น

          ลักษณะของฤาษีแบบไทยๆ มักจะรู้จักกันในรูปของคนแก่ นุ่งห่ม หนังเสือ โพกศีรษะเป็นยอดขึ้นไป

          ทำไมจึงต้องนุ่งห่มหนังเสือ ลองเดาตอบดูก็เห็นจะเป็นเพราะอยู่ในป่า ไม่มีเสื้อผ้า ก็ใช้หนังสัตว์แทน ส่วนจะได้มาโดยวิธีอย่างไรไม่แจ้ง แต่คงไม่ใช่จากการฆ่าแน่นอน เพราะฤาษีจะต้องไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่ถ้ามีคนเอาเนื้อสัตว์มาถวายก็กินได้ ไม่เป็นไร


          ฉะนั้น หนังสัตว์ก็อาจจะเป็นของพวกนายพราน หรือคนที่เคารพนับถือ เอามาถวายก็เป็นได้ ถึงอย่างนั้นก็ยังอาจจะสงสัยต่อไปอีกว่า ทำไมจึงเลือกเอา หนังเสือ เรื่องนี้ก็ต้องเดาตอบเอาอีกว่า เพราะหนังเสือนุ่มดี

          แต่ฤาษีไทยเราเห็นครองแต่หนังเสือเหลือง สังเกตจากรูปฤาษีส่วนมาก จะระบายสีเป็นอย่างเสือลายเหลืองสลับดำ แต่ฤาษีของบางอาจารย์ปิดทองก็มี

          ชุดเครื่องหนังนี้อ่านตามหนังสือวรรณคดีว่า เป็นชุดออกงาน เช่นเข้าเมืองหรือไปทำพิธีอะไรต่างๆ ก็ใช้ชุดหนัง แต่ถ้าบริกรรมบำเพ็ญตบะอยู่กับอาศรมในป่าก็ใช้ ชุดคากรอง คือนุ่งห่มด้วยต้นหญ้าต้นคา
                      

            ในหนังสือบทละครเรื่องอุณรุท พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ กล่าว ไว้ตอนท้าวไกรสุทรับสั่งให้สังฆการีออกไปนิมนต์ฤาษีนารอท มาเข้าพิธีอภิเษกสมรสพระอุณรุทกับนางศรีสุดา มีความว่า

         
"เมื่อนั้น พระนารอททรงญาณฌานกล้า ได้แจ้งไม่แคลงวิญญา ก็บอกหมู่สิทธาพร้อมกัน ต่างผลัดเปลือกไม้คากรอง ครองหนังเสือสอดจำมขัน กรกุมไม้เท้างกงัน พากันรีบมายังธานี"
          ดังนี้แสดงว่าเวลาอยู่ป่านุ่งเปลือกไม้คากรอง ออกนอกอาศรมเข้าเมือง ก็เปลี่ยนเป็นเครื่องหนัง และที่กล่าวมานี้ที่จะเป็นฤาษีแบบไทยๆ ที่มีระเบียบวัฒนธรรมแล้วหรืออย่างไรไม่ทราบ ฤาษีของอินเดียก็ว่านุ่งห่มสีขาว ทีจะเป็นฤาษีเมื่อบ้านเมืองเจริญแล้ว ดึกดำบรรพ์ก่อนโน้นจะมีนุ่งหนังเสือบ้างกระมัง

          ตามภาพเขียนสมัยโบราณ ถ้ามีภาพป่าหิมพานต์ มีรูปต้นมักกะลีผล จะเห็นพวกวิทยาธรและพวกที่แต่งตัวคล้ายๆ ฤาษีเหาะขึ้น ไปเชยชมสาวมักกะลีผลกันเป็นกลุ่มๆ ความจริงไม่ใช่ฤาษีแท้ เป็น พวกนักสิทธ นี่ว่าตามคติอินเดียที่เขาถือว่า นักสิทธไม่ใช่ฤาษี เป็นแต่ผู้สำเร็จจำพวกหนึ่งเท่านั้น ทำนองเดียวกับพวกวิทยาธรหรือพิทยาธร ในหนังสือวรรณคดีไทยเรียกว่า ฤาสิทธ ก็มี มักเรียกรวมๆ กันว่า ฤาษีฤาสิทธ หรือ ฤาษีสิทธวิทยาธร


          ในวรรณคดีอินเดียกำหนดจำนวนพวกนักสิทธไว้ตายตัว มีจำนวน ๘๘
,๐๐๐ ทางไทยเราดูจะนับนักสิทธเป็นฤาษีไปด้วย

          ในเอกสารที่เก่าที่สุดของไทยคือ ไตรภูมิพระร่วง ของ พระญาลิไท ก็เรียกฤาสิทธว่าเป็นอย่างเดียวกับฤาษี ดังความตอนหนึ่งว่า 

           "ครั้นว่านางสิ้นอายุศม์แล้วจึงลงมาเกิดที่ในดอกบัวหลวงดอก ๑ อัน มีอยู่ในสระๆ หนึ่ง มีอยู่แทบตีนเขาพระหิมวันต์ฯ เมื่อนั้นยังมีฤาษีสิทธองค์ ๑ ธ นั้นอยู่ในป่าพระหิมพานต์ ธ ย่อมลงมาอาบน้ำในสระนั้นทุกวัน ธ เห็นดอกบัวทั้งปวงนั้นบานสิ้นแล้วทุกดอก ๆ แลว่ายังแต่ดอกเดียวนี้บมิบานแล ดุจอยู่ดังนี้บมิบานด้วยทั้งหลายได้ ๗ วัน ฯ พระมหาฤาษีนั้น ธ ก็ดลยมหัศจรรย์นักหนา ธ จึงหันเอาดอกบัวดอกนั้นมา ธ จึงเห็นลูกอ่อนอยู่ในดอกบัวนั้นแล เป็นกุมารีมีพรรณงามดั่งทองเนื้อสุก พระมหาฤาษีนั้น ธ มีใจรักนักหนา จึงเอามาเลี้ยงไว้เป็นพระปิยบุตรบุญธรรม แลฤาษีเอาแม่มือให้ผู้น้อยดูดกินนม แลเป็นน้ำนมไหลออก แต่แม่มือมหาฤาษีนั้นด้วยอำนาจบุญพระฤาษี"

          ดังนี้จะเห็นว่า ใช้คำ ฤาสิทธ ในความหมายเดียวกับ ฤาษี และนิยายทำนองนี้ดูจะแพร่หลายมาก ในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง มีเรื่องฤาษีเก็บเด็ก จากดอกบัวมาเลี้ยงแทรกอยู่เสมอ

          ลักษณะความเป็นอยู่ของฤาษีเท่าที่เราเข้าใจกัน โดยทั่วๆ ไปนั้น ก็ว่ากินเผือกมันเป็นอาหาร เพราะไม่มีการทำไร่ไถนา บางคัมภีร์มีข้อห้ามพวกฤาษีไม่ให้เข้าหมู่บ้าน ไม่ให้ย่างเหยียบเข้าไปในเขตพื้นดิน ที่เขาไถแล้ว แต่ในที่บางแห่งกล่าวว่า ฤาษีนั้นแบ่งออกเป็น ๘ จำพวกด้วยกันคือ

๑.สปุตตภริยา คือฤาษีที่รวบรวมทรัพย์ไว้บริโภคเหมือนมีครอบครัว
๒.อุญฉาจริยา คือฤาษีที่เที่ยวรวบรวมข้าวเปลือกและถั่วงาเป็นต้นไว้หุงต้มกิน
๓.อนัคคิปักกิกา คือฤาษีที่รับเฉพาะข้าวสารไว้หุงต้มกิน
๔.อสามปักกา คือฤาษีที่รับเฉพาะอาหารสำเร็จ (ไม่หุงต้มกินเอง)
๕.อัสมุฏฐิกา คือฤาษีที่ใช้ก้อนหินทุบเปลือกไม้บริโภค
๖.ทันตวักกลิกา คือฤาษีที่ใช้ฟันแทะเปลือกไม้บริโภค
๗.ปวัตตผลโภชนา คือฤาษีที่บริโภคผลไม้
๘.ปัณฑุปลาสิก คือฤาษีที่บริโภคผลไม้หรือใบไม้เหลืองที่หล่นเอง

          ในหนังสือ ลัทธิของเพื่อน โดย เสฐียรโกเศศ นาคประทีป ได้กล่าวถึงพวกฤาษีไว้ตอนหนึ่งว่า

          "เกิดมีพวกนักพรตประพฤติเนกขัมม์ขึ้น พวกนี้มักอาศัยอยู่ ในดงเรียกว่า วานปรัสถ์ (ผู้อยู่ป่า) หรือเรียกว่า ฤาษี (ผู้แสวง) ปลูกเป็นกระท่อมไม้หรือมุงกั้นด้วยใบไม้ (บรรณศาลา) เป็นที่อาศัย"

          กระท่อมชนิดนี้ถ้าอยู่รวมกันได้หลายคนเรียกว่า อาศรม พวกฤาษีใช้เปลือกไม้หรือหนังสัตว์เป็นเครื่องนุ่งห่ม และขมวดผมมวย ให้เป็นกลุ่มสูงเรียกวา ชฎา อาศัยเลี้ยงชีพด้วยมูลผลาหารของป่า

          ลัทธิที่ประพฤติมีการบำเพ็ญตบะทรมานกายอย่างเคร่งเครียด เพียรพยายามทนความหนาวร้อน อดอาหาร และทรมานด้วยวิธีต่างๆ

          ความมุ่งหมายที่บำเพ็ญตบะ ยังคงหวังให้มีฤทธิเดช อย่างความคิดในชั้นเดิมอยู่ แต่ว่าเริ่มจะมุ่งทางธรรมแทรกขึ้นอีกชั้นหนึ่งด้วย กล่าวคือการบำเพ็ญตบะ เป็นทางที่จะซักฟอกวิญญาณให้บริสุทธิ์สะอาด เข้าถึงพรหม และเกิดฤทธิเดชเหนือเทวดามนุษย์

         ในอีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า
"ผู้ที่อยากเป็นฤาษีเขามีตำราเรียนเรียกว่า คัมภีร์อารัญยกะ แปลว่า เนื่องหรือเกี่ยวกับป่า ชายหนุ่มที่ไปบวชเรียน เป็นฤาษีจะต้องเรียนและปฏิบัติที่มีกำหนดไว้ในคัมภีร ์ อะไรเป็นปัจจัย ให้ต้องประพฤติตนเป็นฤาษี ตอบได้ไม่ยากนักคือ เขาเห็นว่า ความประพฤติของ ชาวกรุงชาวเมืองในมัธยมประเทศสมัยโน้น เลอะเทอะเต็มที มักชอบประพฤติ แต่เรื่องสุรุ่ยสุร่ายเอ้อเฟ้อ อยู่ด้วยกามคุณ ต้องการจะมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ เหมือนบรรพบุรุษครั้งดึกดำบรรพ์ ครั้งไกลโน้นประพฤติกันอยู่ ชะรอยบรรพบุรุษของชาวอริยกะครั้งกระโน้น จะไม่ใช่เป็นคนเพาะปลูก และใช้เปลือกไม้และหนังสัตว์เป็นเครื่องนุ่งห่ม เห็นที่จะเอาอย่างบรรพบุรุษ ครั้งดึกดำบรรพ์ ซึ่งยังไม่รู้จักหว่านไถและยังไม่รู้จักทอผ้า คงจะสร้างทับ กระท่อมกันอยู่ในป่า ไว้ผมสูงรกรุงรัง พวกฤาษีจึงได้เอาอย่าง"
          เท่าที่กล่าวมาข้างต้นนั้นคือลักษณะและความเป็นอยู่ของฤาษีโดยทั่วๆ ไป แต่ยังมีอีกลักษณะหนึ่งซึ่งไม่ได้กล่าวถึง คือ การมีบุตรและภรรยา

          ฤาษีประเภทนี้มีมากจนเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ฤาษีมีเมียได้ ซึ่งจะได้เล่าถึงในประวัติของฤาษีต่างๆ ต่อไปข้างหน้า


         
ดังได้กล่าวแล้วว่าฤาษีต้องเพียรบำเพ็ญตบะกันอย่างหนัก ฉะนั้นผลที่เกิดขึ้นจึงมีแตกต่างกันไปตามความเพียรพยายาม ใครปฏิบัติได้มากก็ได้รับการยกย่องให้เป็นฤาษีอันดับสูง เท่าที่ทราบเขาจัดฤาษีไว้ ๔ ชั้นดังนี้

๑.ราชรรษี (เจ้าฤาษี)
๒.พราหมณรรษี (พราหมณฤาษี)
๓.เทวรรษี (เทพฤาษี)
๔.มหรรษี (มหาฤาษี)

แต่ในบางแห่งก็จัดฤาษีที่สำเร็จตบะไว้เพียง ๓ ชั้นคือ
๑.พรหมฤาษี คือผู้มีตบะเลิศ ข่มจิตสงบได้จริง ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งทั้งปวง
๒.มหาฤาษี คือเป็นพวกฤาษีชั้นกลาง มีตบะ ข่มกามคุณได้หมดสิ้นแล้ว
๓.ราชฤาษี ได้แก่ ฤาษีที่มีตบะฌานสำเร็จเป็นอันดับต้น
 
          การไต่อันดับไม่ได้ใช้ระบบการสอบ ผู้ที่จะเลื่อนชั้นจะต้องปฏิบัติบำเพ็ญตบะจน ได้ผลตามที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องใช้ความเพียรพยายามและความอดทนอย่างยิ่งยวด
             ดังได้กล่าวแล้วว่า ฤาษีต้องเพียรบำเพ็ญตบะ กันอย่างหนัก ฉะนั้นผลที่เกิดขึ้นจึงมี  แตกต่างกันไป ตามความเพียรพยายาม ใครปฏิบัติได้มากก็ได้รับการยกย่อง
 ให้เป็นฤาษีอันดับสูง เท่าที่ทราบเขาจัดฤาษีไว้ ๔ ชั้นดังนี้
๑.ราชรรษี (เจ้าฤาษี)
๒.พราหมณรรษี (พราหมณฤาษี)
๓.เทวรรษี (เทพฤาษี)
๔.มหรรษี (มหาฤาษี)

แต่ในบางแห่งก็จัดฤาษีที่สำเร็จตบะไว้เพียง ๓ ชั้นคือ
๑.พรหมฤาษี คือผู้มีตบะเลิศ ข่มจิตสงบได้จริง ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งทั้งปวง
๒.มหาฤาษี คือเป็นพวกฤาษีชั้นกลาง มีตบะ ข่มกามคุณได้หมดสิ้นแล้ว
๓.ราชฤาษี ได้แก่ ฤาษีที่มีตบะฌานสำเร็จเป็นอันดับต้น

          การไต่อันดับไม่ได้ใช้ระบบการสอบ ผู้ที่จะเลื่อนชั้น จะต้องปฏิบัติบำเพ็ญตบะจนได้ผลตามที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องใช้ความเพียรพยายามและความอดทนอย่างยิ่งยวด

          ในคำไหว้ครู ที่ได้ยกมากล่าวในตอนต้น มีชื่อฤาษีที่คุ้นหูคนไทยส่วนมากอยู่ ๓ ตนด้วยกันคือ ฤาษีนารอด ฤาษีตาวัว ฤาษีตาไฟ

          ฤาษีทั้งสามนี้คนระดับชาวบ้านสมัยก่อนรู้จักกันดี มักพูดถึงอยู่เสมอในตำนานพระพิมพ์ ที่ว่า จารึกไว้ในลานเงินก็ได้กล่าวถึงฤาษีตาวัว (งัว) และฤาษีตาไฟไว้เหมือนกัน ดังความว่า

         
"ตำบลเมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร เมืองพิไชยสงคราม เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณ ว่ายังมีฤาษี ๑๑ ตน ฤาษีเป็นใหญ่ ๓ ตนๆ หนึ่งฤาษีพีลาไลย ตนหนึ่งฤาษีตาไฟ ตนหนึ่งฤาษีตางัว เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลาย จึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งหลายนี้จะ เอาอันใดให้แก่ พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้ง ๓ จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทองไว้ฉะ นี้ฉลองพระองค์ จึงทำเป็นเมฆพัตร อุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ พระฤาษีประดิษฐานไว้ในถ้ำเหวใหญ่น้อย เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลาย สมณชีพราหมณาจารย์เจ้าไปถ้วน ๕๐๐๐ พรรษา

         
พระฤาษีองค์หนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า ท่านจงไปเอาว่าน ทั้งหลายอันมีฤทธิ์ เอามาให้สัก ๑๐๐๐ เก็บเอาเกสรไม้อันวิเศษ ที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้ ๑๐๐๐ ครั้นเสร็จแล้ว ฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวง ให้ช่วยกันบดยา ทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง ทำเป็นเมฆพัตรสถานหนึ่ง ฤาษีทั้ง ๓ องค์นั้น จึงบังคับฤาษีทั้งปวงให้เอาว่านทำเป็นผง เป็นก้อน ประดิษฐานด้วยมนต์คาถาทั้งปวงให้ประสิทธิทุกอัน จึงให้ฤาษีทั้งนั้น เอาเกสรและว่านมาประสมกันดีเป็นพระให้ประสิทธิแล้ว ด้วยเนาวหรคุณประดิษฐานไว้บนเจดีย์อันหนึ่ง ถ้าผู้ใดให้ถวายพระพรแล้ว จึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด ให้ระลึกถึงคุณพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด" 
         
          ดังนี้แสดงว่า แต่กาลก่อนทางภาคพื้นประเทศไทยเราก็มีฤาษีอยู่มาก โดยเฉพาะ ฤาษีตาวัว กับ ฤาษีตาไฟ ติดปากคนมากกว่าฤาษีอื่นๆ และประวัติก็มีมากกว่า เท่าที่ทราบพอจะรวบรวมได้ดังต่อไปนี้


          ฤาษีตาวัว นั้นเดิมทีเป็นสงฆ์ตาบอดทั้งสองข้าง แต่ชอบเล่นแร่แปรธาตุ จนสามารถทำให้ปรอทแข็งได้ แต่ยังไม่ทันใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร ก็เอาไปทำหล่นตกถาน (ส้วมของพระตามวัด) เสีย จะหยิบเอามาก็ไม่ได้ เพราะตามองไม่เห็น เก็บความเงียบไว้ ไม่กล้าบอกใคร จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกศิษย์ไปถาน แลเห็นแสงเรืองๆ จมอยู่ใต้ถาน ก็กลับมาเล่าให้อาจารย์ฟัง หลวงตาดีใจบอกให้ศิษย์พาไป เห็นแสงเรืองตรงไหนให้จับมือจุ่มลงไปตรงนั้น จะเลอะเทอะอย่างไรช่างมัน

          ศิษย์กลั้นใจทำตาม หลวงตาก็ควักเอาปรอทคืนมาได้ จัดแจงล้างน้ำให้สะอาดดีแล้วก็แช่ไว้ในโถน้ำผึ้งที่ท่านฉัน ไม่เอาติดตัวไปไหนอีก เพราะกลัวจะหล่นหาย

          อยู่มาวันหนึ่ง ท่านก็มารำพึงถึงสังขาร ว่าเราจะมานั่งตาบอดอยู่ทำไม มีของดีของวิเศษอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะลองดู จึงให้ศิษย์ไปหาศพคนตายใหม่ๆ เพื่อจะควักเอาลูกตา แต่ลูกศิษย์หาศพใหม่ๆ ไม่ได้ ไปพบวัวนอนตายอยู่ตัวหนึ่ง เห็นเข้าที่ดีก็เลยควักลูกตาวัวมาแทน

          หลวงตาจึงเอาปรอทที่แช่น้ำผึ้งไว้มาคลึงที่ตา แล้วควักเอาตาเสียออก เอาตาวัวใส่แทน แล้วเอาปรอทคลึงตามหนังตา ไม่ช้าตาทั้งสองข้างก็กลับเห็นดีดังธรรมดา แล้วหลวงตาก็สึกจากพระ เข้าถือเพศเป็นฤาษี จึงได้เรียกกันว่าฤาษีตาวัว มาตั้งแต่นั้น


        
  ส่วน ฤาษีตาไฟ นั้นยังไม่พบต้นเรื่องว่า ทำไมจึงเรียกว่า ฤาษีตาไฟ ที่ตาของท่านจะแรงร้อนเป็นไฟ แบบตาที่สามของพระอิศวรกระมัง

          อย่างไรก็ตาม ฤาษีทั้งสองนี้เป็นเพื่อนเกลอกัน และได้สร้างกุฎีอยู่ใกล้กันบนเขาใกล้เมืองศรีเทพ ท่านออกจะรักและโปรดมาก มีอะไรก็บอกให้รู้ ไม่ปิดบัง


          วันหนึ่งฤาษีตาไฟได้เล่าให้ศิษย์คนนี้ฟังว่า น้ำในบ่อสองบ่อที่อยู่ใกล้กันนั้นมีฤทธิ์อำนาจไม่เหมือนกัน น้ำในบ่อหนึ่ง เมื่อใครเอามาอาบก็จะตาย และถ้าเอาน้ำอีกบ่อหนึ่งมารดก็จะฟื้นขึ้นมาได้อีก

          ศิษย์ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ฤาษีตาไฟจึงบอกว่า จะทดลองให้ดูก็ได้ แต่ต้องให้สัญญาว่า ถ้าตนตายไปแล้ว ต้องเอาน้ำอีกบ่อหนึ่งมารดให้คืนชีวิตขึ้นใหม่ ศิษย์ก็รับคำ ฤาษีตาไฟจึงเอาน้ำในบ่อตายมาอาบ ฤาษีก็ตาย ฝ่ายศิษย์เห็นเช่นนั้นแทนที่จะทำตามสัญญา กลับวิ่งหนีเข้าเมืองไปเสีย

          กล่าวฝ่ายฤาษีตาวัว ซึ่งเคยไปมาหาสู่ฤาษีตาไฟอยู่เสมอ เมื่อเห็นฤาษีตาไฟหายไปผิดสังเกตเช่นนั้นก็ชักสงสัย จึงออกจากกุฎีมาตาม เมื่อเดินผ่านบ่อน้ำตายเห็นน้ำในบ่อเดือด ก็รู้ว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้ว เดินต่อไปอีกก็พบซากศพของฤาษีตาไฟ


         
ฤาษีตาวัวจึงตักน้ำอีกบ่อหนึ่งมาราดรด ฤาษีตาไฟก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมา แล้วเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฤาษีตาวัวฟัง และว่าจะต้องแก้แค้นศิษย์ลูกเจ้าเมือง ตลอดจนประชาชนพลเมืองทั้งหมดอีกด้วย

          ฤาษีตาวัวก็ปลอบว่า อย่าให้มันรุนแรงถึงอย่างนั้นเลย ฤาษีตาไฟก็ไม่เชื่อฟังได้เนรมิตวัวขึ้นตัวหนึ่ง เอาพิษร้ายบรรจุไว้ในท้องวัวจนเต็ม แล้วปล่อยวัวกายสิทธิ์ให้เดินขู่คำรามด้วยเสียงกึกก้ อง รอบเมืองทั้งกลางวันกลางคืน แต่เข้าเมืองไม่ได้ เพราะทหารรักษาประตูปิดประตูไว้

          พอถึงวันที่เจ็ด เจ้าเมืองเห็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็สั่ง ให้เปิดประตูเมือง วัวกายสิทธิ์คอยทีอยู่แล้วก็วิ่งปราดเข้าเมือง ทันทีนั้นท้องวัวก็ระเบิดออก พิษร้ายก็กระจายพุ่งออกมาทำลาย ผู้คนพลเมืองตายหมด เมืองศรีเทพก็เลยร้างมาแต่ครั้งนั้น

          ถ้าว่าตามเรื่องที่เล่ามานี้ ฤาษีตาวัวก็ดูจะใจดีกว่าฤาษีตาไฟ และคงจะเป็นด้วยฤาษีตาวัวเป็นผู้ช่วยให้ฤาษีตาไฟฟื้น คืนชีพขึ้นมานี่เองกระมัง ทางฝ่ายแพทย์แผนโบราณจึงได้ถือเป็นครู ส่วนทางฝ่ายทหารออกจะยกย่องฤาษีตาไฟ ดังมีมนต์บทหนึ่งกล่าวไว้ในตำราพิชัยสงครามว่า "ขอพระศรีสุทัศน์เข้ามาเป็นดวงใจ พระฤาษีตาไฟเข้ามาเป็นดวงตา" ดังนี้ 

    อาจารย์ รวีโรจน์ โหรเมืองพิจิตร ( ศิษย์ปู่ฤาษีนารอด )  
     

                                                      คาถาบูชาพ่อปู่ฤาษีนารอด

                                               ... ฤ ฤา อะระหัง อยู่แล้วหรือยัง พ่อปู่นารอด ขอเชิญเสด็จมาอยู่ตัว
                                        เอหิ มาบังเกิด ฤ ฤา ภะคะวา อุทธัง อัทโธ จะภะกะสะ คงคงอะ ... ภาวนา ๕ จบ ...
                                                                     
                                                                  
  าถาบูชา ปู่ฤาษีนารอด
                                       ...   ตั้งนะโม 3 จบ
                               มะอะอุ สีวัง พรหมมา จิตตัง มานิมา ฤฤา ฦฦา พ่อปู่นารอด มานิมา ประสิทธิเม ...                                                                                                               
 
                                                                        คาถาบูชาบรมครูปู่ตาไฟ

                                   ...โอม นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ นะเมติ ฤ ฤา ฤ ฤา นมัสสิตวา หลวงปู่ตาไฟ

                               สิทธิเตโช มหาปุญโญ มะหายะโส มะหาลาโภ อิทธิ ฤทธิ ประสิทธิเม ... ภาวนา ๓ จบ ...
                                                         
                                           บทสวดขอพรพ่อครูฤาษี(ทุกพระองค์)

                                                            ...โอม ตวะเมมาตา       จะปิตา
                                                              ตะวะเมวะ                  ตะวะเมวะ
                                                              พันธุศะจะ                  สะขา
                                                              ตะวะเมวะ                   ตะวะเมวะ
                                                             วิทะยาทะระวิณัม        ตะวะเมวะ 
                                                             ตะวะเมวะสรวัม           มะมะเทวะ .. ภาวนา ๓ จบ ...
                                                         
                                                                                                                         
                                                                   
 

 
                                                                                     


                                                                               
                                                                                                                              

  Design by  Meemodo.com