|
Side Menu |
ภาคเหนือ |
|
|
ภาคกลาง |
|
|
ภาคอีสาน |
|
|
ภาคตะวันออก |
|
|
ภาคใต้ |
|
แนะนำแหล่งท่องเที่ยว |
|
| |
|
| | |
|
|
|
จังหวัดนครปฐม
" ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า "
ข้อมูลทั่วไป จังหวัดนครปฐม นครปฐม จังหวัดเล็กๆ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ด้วยระยะทางเพียงประมาณ 56 กิโลเมตร เป็นเมืองแห่งปูชนียสถานเก่าแก่ที่สำคัญคือพระปฐมเจดีย์ ซึ่งนับเป็นร่องรอยแห่งแรกของการเผยแพร่อารยธรรมพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทย ทั้งยังเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์มากมายไปด้วยผลไม้และอาหารขึ้นชื่อนานาชนิด เมืองนครปฐมเดิมตั้งอยู่ริมทะเลเคยเป็นเมืองเก่าแห่งหนึ่งซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยทวาราวดีเพราะเป็นราชธานีที่สำคัญ มีหลักฐานเชื่อว่าศาสนาพุทธและอารยธรรมจากประเทศอินเดียเผยแพร่เข้ามาที่นครปฐมเป็นแหล่งแรก โดยสันนิษฐานจากองค์พระปฐมเจดีย์และซากโบราณวัตถุต่างๆ ที่ค้นพบที่จังหวัดนครปฐม นครปฐมจึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญ มีชนชาติต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาเกิดความแห้งแล้งขึ้นในเมืองนครปฐม เพราะกระแสน้ำ ที่ไหลผ่านตัวเมืองเปลี่ยนเส้นทาง ประชาชนจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่งอยู่ริมน้ำ และสร้างเมืองใหม่ขึ้น ชื่อว่า นครชัยศรี หรือ ศิริชัย นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างมาหลายร้อยปี จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ยังทรงผนวชได้เสด็จธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์และทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ไม่มีที่ไหนจะเทียบเท่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเจดีย์แบบลังกา ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ ทรงปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ให้มีสภาพดี และโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองเจดีย์บูชา เพื่อให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มทำทางรถไฟสายใต้ แต่ตอนนั้นเมืองนครปฐมยังเป็นป่ารกอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี มาตั้งที่บริเวณพระปฐมเจดีย์เหมือนที่เคยตั้งมาแล้วในสมัยโบราณ เมืองนครปฐมจึงอยู่ต่อมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้น ที่ตำบลสนามจันทร์ เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐาน และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย ให้สร้างสะพานใหญ่ข้ามคลองเจดีย์บูชาขึ้น ทรงพระราชทานนามว่า สะพานเจริญศรัทธา ต่อมาให้เปลี่ยนชื่อเมือง นครชัยศรี เป็น นครปฐม แต่ชื่อมณฑลยังคงเรียกว่า มณฑลนครชัยศรี อยู่จนกระทั่งยุบเลิกในสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันนครชัยศรีมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นอยู่กับจังหวัดนครปฐม จังหวัดนครปฐมมีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,168 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,355,204 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี อำเภอบางเลน อำเภอกำแพงแสน และอำเภอดอนตูม พื้นที่ทั่วไปของจังหวัดนครปฐมเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา มีที่ดอนเฉพาะทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอเมืองและอำเภอกำแพงแสนเท่านั้น ส่วนที่ราบลุ่มบริเวณลุ่มน้ำท่าจีน (แม่น้ำนครชัยศรี) ได้แก่ ท้องที่อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน และอำเภอบางเลน เป็นที่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรรม การทำสวน ทำไร่ และสวนผลไม้ โดยเฉพาะการปลูกส้มโอ ซึ่งนำชื่อเสียงมาสู่จังหวัดนครปฐมจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองส้มโอหวาน
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพฯ ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดราชบุรี
การเดินทาง รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการรถไฟไปจังหวัดนครปฐมทุกวัน วันละหลายเที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 และที่ สถานีรถไฟธนบุรี โทร. 0 2411 3102 หรือ www.srt.or.th รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเก่า สายถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ สามพราน ไปจนถึงจังหวัดนครปฐม หรือจะใช้เส้นทางสายใหม่ จากกรุงเทพฯ ผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี ไปจนถึงตัวจังหวัดนครปฐม รถโดยสารประจำทาง การเดินทางไปจังหวัดนครปฐม สามารถเดินทางได้จากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนีซึ่งมีรถโดยสารประจำทางวิ่ง 2 เส้นทาง สายเก่า (กรุงเทพฯ-อ้อมใหญ่-สามพราน-นครปฐม) มีรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-บางลี่ และมีรถโดยสารธรรมดาสายกรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี สายใหม่ (กรุงเทพฯ-พุทธมณฑล-นครชัยศรี-นครปฐม) สามารถใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ปรับอากาศชั้น 1 สายกรุงเทพฯ-นครปฐม กรุงเทพฯ-ด่านช้าง (สีน้ำเงิน)หรือรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-ดำเนินสะดวก กรุงเทพฯ-เพชรบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีขนส่งสายใต้ ถ.บรมราชชนนี รถธรรมดา โทร. 0 2434 5557-8 และ รถปรับอากาศ โทร. 0 2435 1199
|
| |