โหราศาสตร์กับชีวิตประจำวัน 


 
โหราศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่เก่าแก่มีอายุยาวนาน เชื่อกันว่าแต่แรกเริ่มนั้นถือกำเนิดจากชนชาวอียิปต์โบราณ ด้วยเป็นชนชาติแรกๆ ที่ทำการบันทึกแนวการเคลื่อนตัวของดวงดาว

ต่อมา...ได้มีการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆทั้งเรื่องของบ้านเมือง,วิถีชีวิตบุคคลเป็นปูมโดยอิงลักษณะการเดินทางโคจรของดวงดาวและเหตุการณ์ผิดปกติบนฝากฟ้าเช่นดาวตก และได้สืบทอดต่อเนื่องกันมาผ่านประเทศอินเดีย มาสู่ประเทศไทยใน สมัยพระนารายณ์มหาราช

ในสมัยโบราณนั้น ผู้ใช้โหราศาสตร์มักเป็นขุนนางที่ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเพื่อศึกษาศาสตร์เหล่านี้ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย และมักเน้นในการพยากรณ์เรื่องเกี่ยวกับในราชสำนักหรือบ้านเมือง

สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน โหราศาสตร์ได้รับความนิยมและเผยแพร่สู่สามัญชน อย่างไรก็ดีโหราศาสตร์เป็นหลักสถิติ มีการบันทึกเขียนเป็นตำราหลายรูปแบบ และมีการพัฒนาในการอ่านค่าสถิติอย่างพิศดาร เพื่อให้ทันยุคทันเหตุการณ์
         
   : ประวัติและพัฒนาการวิชาโหราศาสตร์ไทย

เรื่องประวัติที่แท้จริงและพัฒนาการนั้น อาตมาเกิดไม่ทันหรอก เพียงแต่อาศัยรวบรวมเรื่องราวที่ได้ยินจากผู้ใหญ่หรือบันทึกต่างๆ ขึ้นมา หากจะผิดถูกอย่างไร ก็ให้คิดเสียว่า เป็นทัศนะหนึ่งของอาตมาเท่านั้น ในทัศนะของอาตมา ปรัชญาที่มาของหราศาสตร์นั้น มีอยู่ ๒ ระบบ คือ ปรัชญาแรกที่มองจากสิ่งแวดล้อมใหญ่มาหาเล็ก และ ปรัชญาที่สอง ที่มองจากปัจจัยที่เล็ก มาเพิ่มเติมด้วยปัจจัยประกอบอื่นๆ เพื่อมองภาพให้ใหญ่ขึ้น

ในปรัชญาแรกนั้น อยู่บนพื้นฐานของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติมาสู่ตัวบุคคล
ในระบบนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ในกลุ่มอดีตที่เก่าแก่ เช่น การสร้างปิรามิด, การวางผังเมืองของชนเผ่าอินคา ฯลฯ ที่ยังเหลืออยู่ที่เห็นชัดที่สุดคือ โหราศาสตร์จีน ที่เอาสภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่ ฤดูกาล เป็นตัวตั้ง แล้วมาใช้ดาว ธาตุ ดวงชะตา มาประกอบ

ในส่วนของปรัชญาที่สองนั้น ใช้มุมมองโดยการเก็บเอาผลลัพธ์หรือสถิติของปรากฎการณ์ธรรมชาติ มาเป็นหลัก เช่น ดวงชะตา,ฟ้าร้อง, อุปราคา ฯ มาเป็นปัจจัยอ้างอิง แล้วมาใส่ข้อมูลของปัจจัยสิ่งแวดล้อมเข้าไปเพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาได้ชัดขึ้น เช่น เชื้อชาติ, ถิ่นที่อยู่, ชื่อ, ที่พักอาศัย ฯลฯ ถ้าจะทำความเข้าใจให้ง่าย ขอให้นึกถึงเรื่อง ที่ท่านเจ้าอาวาสวัดราชา ได้กราบทูล รัชกาลที่ ๔ ถึงเรื่องดวงชะตาเปรียบเสมือนต้นไม้ที่เกิดบนเขา กลางเขา และตีนเขา ย่อมแตกต่างกัน

ซึ่งโหราศาสตร์ในแนวปรัชญาที่สองที่อาตมาได้พูดถึงนี้ คือแนวทางของบรรดาโหราศาสตร์สากล โหราศาตร์ภารตะ โหราศาสตร์มอญ-ไทย ในปัจจุบันนี้ โหราศาสตร์ไทยนั้นมีหลักฐานการพัฒนามาจากโหราศาสตร์ภารตะ ดังนั้นจึงขอพูดถึงโหราศาสตร์ภารตะอย่างย่อด้วย ก่อนที่จะมาเป็นโหราศาสตร์ภารตะ ไม่ว่าจะเป็น Vedic หรือ Karma Astrology แบบทุกวันนี้

ในกาลสมัยก่อนที่จะได้มีชื่อประเทศอินเดียเกิดขึ้นนั้น ดินแดนดังกล่าวเป็นของพวกชนถิ่นพื้นเมือง พวกทมิฬและพวกทราวิเดียน ซึ่งนับถือบูชาเทพพวกกึ่งสัตว์ เช่น ช้าง ยักษ์ งู ฯ ต่อมาประมาณ ๕,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล (เป็นอย่างน้อย) างพวกชนชาติอารยันจากเอเชียกลางก็ได้บุกรุกเข้าไปครอบครองดินแดนทางเหนือของแม่น้ำสินธุในแคว้นปัญจาบ พร้อมทั้งได้นำเอาเทพเจ้าของตนเข้าไปปกครอง โดยให้บูชาเทวะ “พระอินทร์” และได้เรียกนามประเทศขึ้นเป็น “ประเทศอินเดีย”

ในกฤตยุค สมัยราชวงศ์ปุรุราชหรือมหาสมมุติราช ลำดับกษัตริย์องค์ที่ ๒๑ คือ พระเจ้าภรตราช โอรสท้าวทศยันต์และมีมเหสีนาม ศกุนตลา บุตรีของมหาฤาษีวิศวามิตรกับนางอัปสร นั้น ทางมหาฤาษี กัณณวะ ได้รวบรวม “ศรุติ” ขึ้นมาเป็นคัมภีร์ ฤคเวท ใช้เป็นคู่มือของพวกพราหมณ์นิกายโหรดา ในสมัยของไตรดายุคต่อมานี้ ได้เริ่มมีการทำพลีกรรมมากขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงด้านตำแหน่งและสิทธิอำนาจของกลุ่ม “เทวะ” เดิม จากกลุ่มพระอินทร์และปรพรหม มาเป็น องค์พรหมธาดา แล้วเปลี่ยนเทพ “รุทระ”อันเป็นเทพแห่งพายุเดิม มาเป็น องค์ศิวะเทพแห่งขุนเขาไกรลาส และ องค์วิษณุแห่งทะเลเกษียรสมุทร จึงได้เกิด คัมภีร์ “โสมเวท” อันเป็นคู่มือสวดของพวกพราหมณ์นิกายอุททาคา และคัมภีร์ “ยัชุรเวท” อันเป็นคู่มือทำพลีกรรมของพวกพราหมณ์นิกายอัธวรรยุ จึงเรียกว่า คัมภีร์ไตรเพท และศาสนาพราหมณ์ขึ้น

ในระยะต่อมา ได้มี อถรรพพราหมณ์ ได้รวบรวม“ศรุติ”อันเป็นมนต์เสกเป่า ๒ ประเภท คือ มนต์ดำสำหรับแก้เสนียด ให้เปลี่ยนเป็นสวัสดิมงคล ประการหนึ่ง และ มนต์สำหรับนำความชั่วร้ายและภัยพิบัติไปให้ศัตรู อีกประการหนึ่ง คัมภีร์นี้เรียกว่า
“อถรรพเวท” กล่าวมาถึงตอนนี้ หลายท่านคงจะเริ่มเบื่อว่ามาอธิบายถึงเรื่องลัทธิพราหมณ์ทำไม? ตอนนี้ ขอให้ลองย้อนกลับไปอ่านนิทานชาติเวร เรื่องแรกของโหราศาสตร์ไทยดูนะ ที่ว่า พระอาทิตย์ (๑) เกิดเป็นพญาครุฑอยู่เขาสัตตปริพันธ์ พระพฤหัสบดี (๕) เกิดเป็นพระอินทร์อยู่เขาพระสุเมรุ พระเสาร์ (๗) เกิดเป็นพญานาคอยู่ในมหาสมุทร และ พระอังคาร (๓) เกิดเป็นพญาราชสีห์อยู่ป่าหิมพานต์ ได้ร่วมกันที่จะสร้างสระน้ำไว้ให้เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์และเทวดา โดยมีพระราหู (๘) เป็นตัวร้าย นั้น จากนิทานชาติเวรเรื่องนี้ ส่อเค้าว่า น่าจะเป็นเรื่องที่เก่าที่สุดที่มาจากอารยธรรมของพวกอารยันในยุคแรกเริ่มของประเทศอินเดียก่อนมีศาสนาพราหมณ์
ที่บูชา พระอินทร์เป็น มหาเทพ นี่แหละครับ ร่องรอยประวัติโหราศาสตร์ไทย

ขอพูดต่ออีกนิดนึงนะ ในยุคต่อมา ทางพวกพราหมณ์ได้เรียบเรียงคัมภีร์ไตรเพท โดยจัดทำอรรถขึ้นมาเป็น“สูตร”แบ่งออกเป็น ๖ เวทางค์ (องค์แห่งเวท) หนึ่งในเวทางค์นั้นคือ “วิชาโชยติษะ” หรือ วิชาโหราศาสตร์ นั่นเอง ซึ่งคัมภีร์วิชาโชยติษะอันเป็นโหราศาสตร์อินเดียที่ได้ตกทอดมายังประเทศไทยที่ยังหลงเหลืออยู่นี้ประมาณ ๒๐ เล่ม เช่น คัมภีร์สูรยสิทธานตะและคัมภีร์พฤหัตสังหิตาของ วราหมิหิร มหาบัณฑิต,
คัมภีร์ศุกรนีติสาระ(คัมภีร์พิชัยสงครามของพระศุกรมหาฤาษี),คัมภีร์ภฤคุปรัศนัม (ตำราศุภฤกษ์ศุภยามของพระภฤคุ มหาฤาษี) ฯลฯ เป็นต้น

วิชาโหราศาสตร์ของพวกพราหมณ์นี้ ยังได้มีหลักฐานปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก ในบทว่าด้วยมหาศีล ซึ่งได้เคยเขียนรายละเอียดไว้ในนิตยสารโหราเวสม์เอาไว้แล้ว
วิชาโหราศาสตร์โบราณทั้งจากสมัยกลุ่มอารยัน, กลุ่มศาสนาพราหมณ์ และ บางส่วนที่แฝงอยู่ในกลุ่มพระภิกษุผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา คงได้ตกทอดเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาเป็นระยะๆ ไม่น้อยกว่า ๔-๕ ครั้ง จนกระทั่ง พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา วิชาโหราศาสตร์ดังกล่าวก็ได้ถูกพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นหลักวิชาที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง โดยไม่ได้ดำเนินตามรอยของพวกพราหมณ์อินเดียอย่างเคร่งครัดอีกต่อไป

ร่องรอยวิชาโหราศาสตร์ไทยนอกจากเรื่องนิทานชาติเวรเรื่องแรกแล้ว อาจจะศึกษาเพิ่มเติมได้จากตำราอื่นๆ ทางพระพุทธศาสนา อาทิเช่น นิทานปัญญาสชาดกของเมืองเหนือ เป็นต้น และจากเอกสารประวัติศาสตร์โบราณคดี อื่นๆ
             

การศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทย

วิชาโหราศาสตร์ไทย แต่ดั้งเดิมนั้นกล่าวกันว่า มีอยู่มากกว่า ๒๗๐ ปกรณ์ แบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือ

(ก) โหราศาสตร์ไทยภาคคำนวณ - มีปกรณ์ต่างๆมากกว่า ๕๐ ปกรณ์ ขึ้นไป จำแนกได้ดังนี้

(๑.๑) ตำราสุริยยาตร มีประมาณ ๗-๘ ฉบับ
(๑.๒) ตำรามานัตต์ มีประมาณ ๔-๕ ฉบับ
(๑.๓) ตำราสารัมภ์ มีประมาณ ๑๐ กว่า ฉบับ
(๑.๔) ปกิณกะภาคคำนวณ – มีประมาณ ๒๐ กว่าฉบับ เช่น ตำรากากะบาด, ตำราสงกรานต์, ตำราอธิกวาร ฯลฯ

(ข) โหราศาสตร์ไทยภาคพยากรณ์ - มีปกรณ์ต่างๆมากกว่า ๒๐๐ ปกรณ์ ในภาคนี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ตอน คือ

(๒.๑) โหราศาสตร์ดวงเมือง มีประมาณ ๖๐ ปกรณ์
– ประกอบด้วยการพยากรณ์ดวงชะตาพระมหากษัตริย์, ว่าด้วยการสร้างบ้านแปงเมือง, การพยากรณ์เกี่ยวกับเมืองและศึก, การพยากรณ์เศรษฐกิจข้าวปลาอาหาร, การพยากรณ์ดวงนักบวชและพระภิกษุ ฯลฯ ยังแบ่งย่อยการพยากรณ์ออกได้อีก ๒ แบบ คือการพยากรณ์ปูมกำเนิด กับ การพยากรณ์จร เช่น ตำราเผด็จรามเหิยร, ตำรานครภังส์, ตำราราชมัญตัญ, ตำรานครถาน, ตำราพิไชยสงคราม, ตำราธุมเกตุธุมเพลิง, ตำราดาวหาง(ดาวพรหมปโรหิตา), ตำราเทวดาไขประตูฟ้า, ตำราคลองฟ้า, ตำราดาวเข้าวงพระจันทร์, ตำรามหาปุริสสลักษณะ,ตำราดาวผุดกลางวัน, ตำราโสฬสมหานคร, ตำราพระนครคิรี, ตำราโชติรัตน์, ตำราพิธีสะเดาะเคราะห์เมือง, ตำราจุฬามณี,
ตำราพิรางค์ ฯลฯ
(๒.๒) โหราศาสตร์ภาคพยากรณ์ดวงบุคคล – มีประมาณ ๑๕๐ ปกรณ์
– แยกเป็น โหราศาสตร์ภาคปูมกำเนิด ประมาณ ๕๐ ปกรณ์ และ หราศาสตร์ภาคพยากรณ์จร ประมาณ ๑๐๐ ปกรณ์ เช่น ตำราอินทภาสบาทจันทร์, ตำรากาลจักรลัคน์จร, ตำราอสีติธาตุ, ตำราอสีติโชค, ตำรามหาสัฏฐีจักร, ตำรายาม, ตำราอัษการ, ตำราฆาตมฤตยู, ตำราขับจันทร์ประวัติ, ตำราพระเคราะห์รูป-พระเคราะห์สม, ตำราเสบียงโหรา, ตำราลักขณาทวาทศมาส, ตำรามหาทักษา, ตำราทักษาปกรณ์, ตำราโลกศาสตร์, ตำราสุบินนิมิต, ตำราจักรทีปนี ฯลฯ

(ค) โหราศาสตร์ไทยภาคพิธีกรรม - ภาคนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นคำสอนประเภท“มุขปาฐะ”ตามแนว“อาจาริยมัติ”คือเป็นคำอธิบายปากเปล่าประกอบคำสอนภาคพยากรณ์
ซึ่งแล้วแต่แนวทางของอาจารย์แต่ละสำนักที่ได้ศึกษากันมา โดยอาจจะแตกต่างกันพอสมควร ในส่วนที่เป็นบันทึกตำราก็มีบ้างราวๆ ๓๐ ปกรณ์ เช่น ตำราราชพิธีพราหมณ์สำหรับสยามประเทศ, ตำรานามกรรม, ตำราผลัดนาม, ตำราตัดไม้ข่มนาม, ตำราอธิไทโพธิบาทว์, ตำราทำอุบาทว์, ตำราเชิญ, ตำราบูชานพเคราะห์, ตำราสะเดาะเคราะห์, ตำราดวงพิชัยสงคราม, ตำราบูชาดวงชะตากำเนิด ฯลฯ

ขอแบ่งช่วงเวลาในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทยออกเป็น ๕ ช่วงด้วยกัน

(๑) ช่วงก่อน พ.ศ.๒๔๗๕
ช่วงนี้ มักเรียนกันตามวัดหรือบ้านข้าราชการที่เกี่ยวกับกรมโหรหรือตามวังเจ้านายชั้นสูงต่างๆ
เป็นการเรียนไปตามลำดับและยึดแบบแผนของ“อาจาริยมัติ”อย่างเคร่งครัด
เป็นการศึกษาทั้งจากการคำนวณบนกระดานและศึกษาจากการดูดาวบนท้องฟ้าด้วย

(๒) ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๕ – พ.ศ. ๒๕๑๐
ช่วงนี้เริ่มมีปูมปฏิทินโหรบางแบบออกจำหน่าย เริ่มมีการตื่นตัวศึกษาโหราศาสตร์
ทั้งแบบไทยและต่างประเทศ (เป็นโหราศาสตร์สากลแบบดวงโปรเกรสไม่ใช่ยูเรเนียน) มีการจับกลุ่มผู้สนใจโหราศาสตร์
เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างกว้างขวาง และได้จัดตั้งสมาคมโหรแห่งประเทศไทยขึ้น การศึกษาโหราศาสตร์ไม่จำกัดอยู่ที่ตาม
วัด หรือบ้านข้าราชการแล้ว เปลี่ยนมาเป็นการศึกษาจากตัวบุคคลนักโหราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและเรียนกันเฉพาะบางแง่มุม
หรือบางแนวทางเป็นส่วนใหญ่

(๓) ช่วง พ.ศ. ๒๕๑๑ – พ.ศ. ๒๕๒๐
สมาคมโหรแห่งประเทศไทยได้เปิดสอนโหราศาสตร์แก่บุคคลทั่วไป เป็นรุ่นแรก นักศึกษารุ่นแรกนี้ที่มีชื่อเสียงก็เช่น
อรรถวิโรจน์ ศรีตุลา ฯ เป็นต้น ได้มีการกำหนดแบบแผนขึ้นเป็นหลักสูตร หากใครสนใจในวิชาชั้นสูง
ก็ต้องแยกไปเรียนเป็นส่วนตัวจากอาจารย์แต่ละท่านต่างหากออกไป ในช่วงนี้ ความเห็นของนักโหราศาสตร์แตกเป็นหลายพวก
มีการแยกตัวไปเป็น กลุ่มวัดราชบพิธบ้าง กลุ่มวัดโพธิ์บ้าง กลุ่มวัดสุทัศน์บ้าง กลุ่มวัดราชประดิษฐ์บ้าง กลุ่มวัดมหาธาตุบ้าง
กลุ่มวัดบุญศิริอำมาตย์บ้าง จนในที่สุดได้มีการแยกไปตั้งเป็น สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ และ กลุ่มสหพันธ์โหร ฯลฯ
ในช่วงนี้ มีปฏิทินโหรให้เลือกซื้อหาใช้ได้ ตามแต่ความพอใจ ในแนวทางการพยากรณ์ที่จะใช้ เช่น โหราศาสตร์สากลยุคนี้
นิยมใช้ปฏิทินแบบราฟาเอลมากกว่าแบบลาหิรี เป็นต้น ตำราโหราศาสตร์ที่มีอยู่นั้นมักจะเป็นเรื่องซ้ำๆกัน
และไม่ค่อยมีหลักคำอธิบาย จึงใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ได้เพียงแค่เป็นเสมือนพจนานุกรม หรือแผ่นลายแทงเท่านั้น
ยังไม่สามารถนำมาใช้ศึกษาได้กว้างขวาง นอกจากต้องมีคำอธิบายของ“ครู”ผู้แต่งหนังสือเล่มนั้นๆมาประกอบด้วย
การศึกษาโหราศาสตร์ในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ ยังต้องยึดเอา “ตัวครู”
เป็นหลักอยู่หรือใช้การไต่ถามขอความรู้จากบรรดานักโหราศาสตร์เลื่องชื่อทั้งหลาย

(๔) ช่วง พ.ศ. ๒๕๒๑ – พ.ศ.๒๕๔๐
ในช่วงนี้ มีตำราโหราศาสตร์พร้อมคำอธิบายหลายแบบให้เลือกซื้อหาได้ ตามแต่ความพอใจ ดังนั้น
การศึกษาจึงเริ่มเปลี่ยนแนวทางจากการไปศึกษาขอคำอธิบายจากครูนักโหราศาสตร์อาวุโส เพื่อจะได้ฟังมุขปาฐะ มาเป็น
การใช้ หนังสือตำราโหราศาสตร์เล่มต่างๆ มาเป็น “ตัวครู” ผู้สอนแทน และ ใช้สติปัญญาความคิดหรือทัศนะของตนเอง
เข้ามาเป็น “หลักตัดสิน” บรรดา “กฎโหราศาสตร์” ในหนังสือตำราโหราศาสตร์เล่มนั้นๆ

การศึกษาในระบบ เอา หนังสือตำราโหราศาสตร์ มาเป็น“ครู”นี้ ถ้าตัดสินใจถูก ก็ดีไป แต่ถ้าข้อความในตำรานั้นไม่
ชัดแจ้งผู้ศึกษาก็มักเข้ารกเข้าพงไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้พบเห็นมามากกว่า ๘๐%

(๕) ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ถึงปัจจุบัน
การศึกษาโหราศาสตร์ในยุคปัจจุบัน คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ระบบอิเลคโทรนิคส์ คอมพิวเตอร์ และ
อินเตอร์เน็ต ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แนวทางการศึกษาโหราศาสตร์แบบเอาหนังสือเป็นครูเริ่มเปลี่ยนไป
โดยเปลี่ยนไปสู่การศึกษาการใช้โปรแกรมประมวลผลทางด้านโหราศาสตร์แทน


 
                                                                                     


                                                                               
                                                                                                                              

  Design by  Meemodo.com