Meemodo.com
ท่องเที่ยวทั่วไทย 
"ดูดวงแม่นๆโทร.088-555-9771 อ.รวีโรจน์ มีหมอดู"

    Side Menu

                            ภาคเหนือ

                            ภาคกลาง

                             ภาคอีสาน

                            ภาคตะวันออก

                             ภาคใต้

           แนะนำแหล่งท่องเที่ยว





                                                                                              

อาหารไทย 4 ภาค

ภาคเหนือ

ภาคเหนือ... เป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ครั้งในอดีต เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ ที่มีศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่แตกต่างไปจากภาคอื่น ๆ และการที่คนเหนือมีเชื้อสายไทยใหญ่ หน้าตา ผิวพรรณ จึงต่างไปจากคนภาคอื่น ๆ ประกอบกับความอ่อนหวาน ซื่อ บริสุทธิ์ ทำให้คนเหนือมีเอกลักษณ์ที่เด่นชัดของตนเอง นอกจากนี้ การมีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทำให้เกิดธรรมชาติที่สวยงาม มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ และยังเป็นที่อยู่ของคนไทยภูเขาหลายเผ่าพันธุ์ ภาคเหนือจึงยังเป็นที่รวมของวัฒนธรรมที่หลากหลาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่งดงามเหล่านี้ได้สืบทอดกันมานานแสนนาน ภาคเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นคล้ายต่างประเทศ ไม้เมืองหนาวต่าง ๆ พันธุ์ ถูกนำมาทดลองปลูก และได้กลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือเป็นอันมาก แต่ถึงจะสามารถปลูกพืช ผัก เมืองหนาวได้ แต่อาหารดั้งเดิมของภาคเหนือ ก็ยังใช้พืชตามป่าเขา และพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มาใช้ในการปรุงอาหารเป็นส่วนใหญ่ โก๊ะข้าว หรือขันโตก จะทำด้วยไม้รูปทรงกลม มีขาสูงพอดีที่จะนั่งร่วมวง และหยิบอาหารได้สะดวก ชาวบ้านภาคเหนือจะจัดอาหารใส่ถ้วยแล้ววางบนโก๊ะข้าว หรือบางบ้านอาจใช้ใส่กระด้งแทน การเก็บอาหารที่เหลือ เพื่อให้พ้นมด แมลง ที่จะมาไต่ตอม ก็จะใส่กระบุง แล้วผูกเชือก แขวนไว้ในครัว เมื่อต้องการจะรับประทานก็ชักเชือกลงมา ในครัวทั่ว ๆ ไปจะมีราวไว้แขวน หอม กระเทียม คนภาคเหนือจะรับประทานข้าวเหนียวกันเป็นอาหารหลัก ส่วนกับข้าวก็หาเอาตามท้องทุ่ง และลำน้ำ ทั้งกบ เขียด อึ่งอ่าง ปู ปลา หอย แมงยูน จีกุ่ง ( จิ้งหรีดชนิดหนึ่ง ) ไก่ หมู และเนื้อ อาหารภาคเหนือไม่นิยมใส่น้ำตาล ความหวานจะได้จากส่วนผสมที่นำมาทำอาหาร เช่น ความหวานจากผัก จากปลา จากมะเขือส้ม เป็นต้น การทำอาหารก็มักจะให้สุกมาก ๆ เช่นผัดก็จะผัดจนผักนุ่ม ผักต้มก็ต้มจนนุ่ม อาหารส่วนใหญ่จะใช้ผัดกับน้ำมัน แม้แต่ตำขนุน ( ยำขนุน ) เมื่อตำเสร็จก็ต้องนำมาผัดอีกจึงจะรับประทาน ในปัจจุบันนี้ เนื้อสัตว์ที่นิยมนำมาทำอาหารจะเป็น หมู ไก่ เนื้อ และปลาตามลำดับ ปลาที่ใช้ในปัจจุบันมีทั้งปลาเลี้ยง และปลาที่จับจากแม่น้ำลำคลอง

อาหารที่คนภาคเหนือนิยมใช้กินแนม หรือ กินเคียงกับอย่างอื่น เช่น

หน้าปอง คือการเอาหนังควายมาเผาไฟ แล้วแช่น้ำขูดเอาส่วนที่ดำ ๆ ออก ตัดส่วนที่แข็งทิ้ง ตากแดดให้แห้ง นำแผ่นหนังไปปิ้งไฟพอให้อ่อนตัว ใช้มีดตัดเป็นเส้นแต่ไม่ให้ขาดจากกัน นำไปต้ม 3 วัน โดยใช้ไฟอ่อน ๆ จนมีสีเหลือง ๆ เก็บไว้รับประทานได้นาน เมื่อจะรับประทาน ให้ทอดไฟกลางหนังจะพอง ถ้าไฟแรงหนังจะไหม้ ถ้าไฟอ่อนหนังจะไม่พอง น้ำหนัง คือเอาหนังควายเผาไฟจนไหม้ดำ แช่น้ำในโอ่ง แล้วขูดส่วนที่ไหม้ออก นำไปต้มในปี๊บโดยขัดแตะปากปี๊บไว้ หนังจะได้ไม่ลอยขึ้นมา ต้มไปจนหนังละลายเป็นน้ำข้น ๆ ยกลง กรองด้วยกระชอนไม้ไผ่ นำไปละเลงบาง ๆ บนกาบไม้ไผ่ หรือจะผสมงาก่อนละเลงก็ได้ นำไปผึ่งในร่ม พอแห้งลอกเก็บ รับประทานกับแกง โดยปิ้งไฟอ่อน ๆ แคบหมู นำหนังหมูมากรีดมันออก ให้เหลือติดนิดหน่อย เคล้ากับเกลือ ผึ่งแดดให้น้ำมันแห้ง ตัดเป็นชิ้นเล็ก นำไปเคี่ยวกับน้ำมันในกระทะ พอหนังพองเป็นเม็ดเล็ก ๆ แล้วเอาไปทอดในน้ำมันร้อนจัด หนังหมูพองเท่ากันตักขึ้น ไข่มดส้ม คือ การเอาไข่มดแดงไปดองกับเกลือ แล้วจึงนำมายำหรือแง การดองไข่มดส้มจะดองโดยใช้ไข่มด 1 ถ้วยดองกับเกลือ 2 ช้อนชา

เครื่องปรุงรสในอาหารเหนือ


 

ปลาร้า คือการหมักปลากับเกลือจนเป็นปลาร้า ใช้ใส่ในอาหารหลายอย่าง น้ำปู๋ คือ การเอาปูนาตัวเล็ก ๆ มาโขลก แล้วนำไปเคี่ยว กรองเอาแต่น้ำปู๋ ใส่ข่า ตะไคร้ เคี่ยวต่อจนข้น น้ำปู๋จะมีสีดำ มีความข้นพอ ๆ กับกะปิ การเก็บจะบรรจุใส่ขวดหรือกล่องเล็ก ๆ ปากกว้าง เก็บไว้ได้นาน


ถั่วเน่าแผ่น ( ถั่วเน่าแค่บ ) คือถั่วเหลืองต้ม หมักกับเกลือจนนุ่ม นำไปโม่แล้วละเลงเป็นแผ่น ตากแดดให้แห้ง ใช้แทนกะปิ


ถั่วเน่าเมอะ คือถั่วเหลืองต้มหมักกับเกลือ ห่อใบตองให้มีกลิ่น ใช้ทำน้ำพริก ใช้ผัด หรือปิ้งรับประทานกับข้าว


มะแขว่น เป็นเครื่องเทศทางเหนือ มีลักษณะเป็นพวงติดกัน เม็ดกลม เปลือกสีน้ำตาลเข้ม เปลือกจะอ้าเห็นเมล็ดข้างในสีดำกลม กลิ่นหอม มีรสเผ็ดเล็กน้อย


มะแหลบ ลักษณะเมล็ดแบน กลิ่นหอมอ่อนกว่ามะแขว่น


ผักและเครื่องเทศทางภาคเหนือ จะเป็นผักเฉพาะถิ่น ผักบางชนิดจะคล้ายกับผักทางภาคอีสาน แต่เรียกชื่อต่างกัน ทางภาคเหนือจะมีเครื่องเทศเฉพาะคือ มะแขว่น กับมะแหล่บ อาหารภาคเหนือรสจะออกไปทางเค็มกับเผ็ด แต่ไม่เผ็ดจัด รสหวานไม่นิยม หากจะมีความหวานในอาหารบ้างก็จะได้มาจากเครื่องปรุงในอาหารนั้น ๆ ไม่นิยมใช้น้ำตาล แต่จะนิยมใช้น้ำมันในการปรุงอาหาร อาการส่วนใหญ่จะผัดด้วยน้ำมัน เครื่องจิ้มก็จะเป็นน้ำพริกเป็นส่วนใหญ่ ผักที่ใช้จิ้ม ส่วนใหญ่จะเป็นผักนึ่ง


ผักปู่ย่า ขึ้นในป่า ลักษณะเป็นพุ่ม ดอกสีเขียวอมชมพูน้ำตาล มีหนามถ้าดอกสีเหลืองจะมีรสเปรี้ยว ใช้ทำยำ นอกจากนี้ผักปู่ย่า ยังมีผักที่ขึ้นตามป่า แล้วนำมาปรุงอาหาร หรือใช้เป็นผักจิ้มอีกหลายชนิด เช่น ผักสลิดจะมีรสขม ผักห้วนหมู จะมีใบใหญ่ สีเขียวเข้ม รสขม ผักกานถึง ใบเล็ก ๆ แหลม ๆ มีรสหวาน เวลาเด็ด เด็ดเป็นยอด นอกจากนี้ยังมีผักป่าอีกหลายชนิด

นอกจากผักป่าแล้วยังมีเห็ดชนิดต่าง ๆ ที่เกิดตามป่าและเก็บมารับประทาน เช่น เห็ดแดง เห็ดเผาะ ( เห็ดถอบ ) เห็ดหูหนูลัวะ คือ เห็ดหูหนู


ผักขี้หูด ลักษณะของผักจะเป็นฝัก ขึ้นเป็นช่อ ฝักเล็กขนาด ? ซม. ยาว 7-8 ซม. ดอกสีม่วงสวย กินสดโดยจิ้มกับน้ำพริก น้ำผัก หรือ ต้ม นึ่งกินกับน้ำพริกอ่อง ผักขี้หูดเป็นผักฤดูหนาว ใบคลายใบผักกาด จะใช้เฉพาะส่วนที่เป็นฝัก รสเผ็ดเล็กน้อย แต่ถ้าต้มสุกแล้วจะหวาน


ผักกาดตอง ใบคล้ายใบพลู แต่ใบสั้นกว่า สีเขียวออกขาว กลิ่นหอมฉุน ใช้กินกับลาบ


หอมด่วน คือ ผักชี อาหารภาคเหนือส่วนใหญ่นิยมโรยด้วย ผักชีหั่นฝอย


ยี่หร่า ลักษณะใบฝอย สีเขียวเข้ม ใช้จิ้มน้ำพริก น้ำผัก น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกตาแดง และใส่แกง


หยวกกล้วย จะใช้หยวกกล้วยป่า โดยใช้แกนให้มาทำแกงหรือต้มจิ้มน้ำพริก


บ่าค้อนก้อม คือ มะรุม ใช้แกงส้ม


บ่าริดไม้ คือ ลิ้นหมา ลักษณะเป็นฝัก ยาวประมาณ 10 – 15 นิ้ว ฝักจะมีลักษณะแบน กว้าง 3 นิ้ว ต้มให้นุ่มใช้จิ้มน้ำพริก มีรสขม เป็นยาระบาย มีสีเขียวขี้ม้า


บ่าหนุน จะใช้ขนุนอ่อน โดยเด็ดเอาขนุนที่ออกลูกมากเกินไป และจำเป็นต้องเด็ดออกเสียบ้าง เพื่อจะได้ไม่แย่งอาหารกันมาก ขนุนอ่อนนี้ใช้ทำแกง หรือต้มจิ้มน้ำพริก


ดอกงิ้ว คือดอกนุ่นพันธุ์พื้นเมือง


พริกหนุ่ม เป็นพริกทางเหนือ มีลักษณะยาวเรียว พริกหนุ่มสด จะมีสีเขียวอมเหลือง


ดอกลิงแลว เป็นดอกเล็ก ๆ สีม่วง มีลักษณะคล้ายกล้วยไม้ที่เพิ่งแตกดอก คือเป็นปุ่มเล็ก ๆ ปลายดอกเรียว โคนใหญ่ ตัวดอกนุ่ม ลักษณะใบจะยาวคล้ายใบหมาก มีรสหวาน ใช้ทำแกงแค หรือ แกงเลียง


ตูน คือ คูน ต้นคล้ายต้นบอล แต่เปลือกสีเขียวนวลไม่คันเมื่อมือถูกยางคูน เนื้อตูนสีขาว เนื้อฟ่าม กินสดได้ โดยกินกับตำส้มโอ ตำมะม่วง


ผักหระ คือ ชะอม กินได้ทั้งสดและทำให้สุก นิยมกินกับตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือ ใส่แกง เช่น แกงแค เป็นต้น


ผักหนอก คือใบบัวบก กินสดกับน้ำพริกหรือแนม หรือกินแกล้มกับยำต่าง ๆ


หัวปี๋ ( ปลี ) คือหัวปลี กินได้ทั้งสดและทำให้สุก เช่น กินสดจิ้มกับน้ำพริกอ่อง ทำสุก เช่น ใช้แกงกับปลาย่าง ต้มสุกจิ้มน้ำพริก ปลีกล้วยที่นิยมกินกัน คือ ปลีกล้วยน้ำว้า กับปลีกล้วยป่า


ดอกแก ( ดอกแค ) ดอกแคที่นิยมกินกันมีสองสี คือแคขาวกบแคแดง ใช้ทำแกง หรือ ต้มจิ้มน้ำพริก ยอดแคก็กินได้


หน่อไม้ไร่ มีลักษณะเล็กยาว มีรสขื่นและขม นิยมเอามาทำเป็นหน่อไม้ปีป นอกจากจะเก็บได้นานแล้ว ยังทำให้รสขื่นและขมของหน่อไม้คลายลง หน่อไม้ไร่ปีปนิยมทำหน่ออั่ว ยำหน่อไม้และผัด


มะเขือส้ม คือมะเขือลูกเล็ก ๆ ที่ติดกันเป็นพวง มีรสเปรี้ยวอมหวานนิด ๆ


ภาคกลาง

ภาคกลาง.... เป็นภาคที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด พื้นทีส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน ข้าวปลาอาหารจึงอุดมสมบูรณ์เกือบตลอดปี รวมทั้งมีพืช ผัก ผลไม้ นานาชนิด นอกจากนี้ภาคกลางยังเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงมานับหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน จึงเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดต่อ ๆ กันมา ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการค้าขาย และติดต่อกับต่างประเทศ มีแขกบ้าน แขกเมืองไปมาหาสู่อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุดเป็นที่ประทับของในหลวงในรัชกาลต่าง ๆ มีเจ้านายหลายพระองค์รวมทั้งแวดลงชาววัง ซึ่งต่างก็มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์อาหารที่เป็นแบบฉบับของคนภาคกลาง

ลักษณะอาหารภาคกลางมีที่มาต่าง ๆ กัน ดังนี้

1. ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ เช่น เครื่องแกง แกงกะทิ จะมาจากชาวฮินดู การผัดโดยใช้กระทะและน้ำมันมาจากประเทศจีนหรือขนมเบื้องไทย ดัดแปลงมาจาก ขนมเบื้องญวน ขนมหวานประเภททองหยิบ ทองหยอดรับอิทธิพลจากประเทศทางตะวันตก เป็นต้น

2. เป็นอาหารที่มักมีการประดิษฐ์ ทั้งนี้เพราะบรรดาคุณท่านท้าวเธอที่อยู่ในรั้วในวังมีเวลาว่างมากมาย จึงใช้เวลาในการคิดสร้างสรรค์อาหารให้เลิศรส วิจิตรบรรจง เช่น ขนมช่อม่วง จ่ามงกุฎ หรุ่ม ลูกชุบ กระเช้าสีดา ทองหยิบ หรืออาหารประเภทข้าวแช่ ผัก ผลไม้แกะสลัก

3. เป็นอาหารที่มักจะมีเครื่องเคียง ของแนม เช่น น้ำพริกลงเรือ ต้องแนมด้วยหมูหวาน แกงกะทิก็มักจะแนมด้วยปลาเค็ม สะเดา น้ำปลาหวานก็ต้องคู่กับกุ้งนึ่งหรือปลาดุกย่าง ปลาสลิดทอดรับประทานกับน้ำพริกมะม่วง หรือแม้กระทั่งไข่เค็มที่มักจะรับประทานกับน้ำพริกลงเรือ น้ำพริกมะขามสด หรือน้ำพริกมะม่วง นอกจากนี้ยังมีของแนมอีกมากมายเช่นพวกผักดอง ขิงดอง หอมแดงดอง เป็นต้น

4. เป็นภาคที่มีอาหารว่าง และขนมหวานมากมาย เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ กระทงทอง ค้างคาวเผือก ปั้นขลิบนึ่ง ไส้กรอกปลาแนม ข้าวตังหน้าตั้ง ขนมหวานหลากหลายที่ทำจากไข่ , แป้งชนิดต่าง ๆ เช่น แป้งข้าวเหนียว แป้งสาลี แป้งมัน หรือแป้งหลายชนิดรวมกัน เช่น ขนมชั้น ขนมสอดไส้ ขนมเปียกปูน ขนมกง ขนมมุก ขนมลืมกลืน ขนมเต่า เป็นต้น

จากความหลากหลายของอาหารภาคกลางนี้เอง จึงทำให้รสชาติของอาหารภาคนี้ไม่เน้นไปทางรสใดรสหนึ่งโดยเฉพาะ คือมีรส เค็ม เผ็ด เปรี้ยว หวาน คลุกเคล้าไปตามชนิดต่าง ๆ ของอาหาร นอกจากนี้มักจะใช้เครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส เช่นพวกเครื่องเทศต่าง ๆ ใช้กะทิเป็นส่วนประกอบของอาหารมากชนิด


 

อาหารภาคกลางที่จัดเป็นชุดและนิยมรับประทานกัน เช่น


ข้าวแช่ คือการนำข้าวสวยแช่ในน้ำลอยดอกไม้ใส่น้ำแข็ง รับประทานร่วมกับกะปิทอด หอมสอดไส้ พริกหยวกสอดไส้ ปลาแห้งทอด ไข่เค็มทอด และรับประทานกับผัก แตงกวา มะม่วงดิบ กระชาย ต้นหอม ผักชี พริกแดง


ข้าวมันส้มตำ จะมีข้าวมัน ส้มตำ เนื้อเค็มฉีกฝอย แกงเผ็ด


ข้าวคลุกกะปิ ข้าวคลุกกะปิ กุ้งแห้งทอดกรอบ หมูหวาน ไข่เจียวหั่นเป็นเส้น หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย ผักชี แตงกวา


ข้าวเหนียว – ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ไก่ย่าง ส้มตำ


ขนมจีนซาวน้ำ ขนมจีน แจงร้อน สับปะรดสับละเอียด กระเทียมหั่นบาง ขิงสดหั่นฝอย กุ้งแห้งป่น กะทิข้น น้ำตาลทราย น้ำปลา มะนาว


ขนมจีนน้ำพริก ขนมจีน น้ำพริก ใบเล็บครุฑชุบแป้งทอด มะละกอดิบซอยฝอย ๆ ผักบุ้งไทยต้มหั่นฝอย หัวปลีหั่นบาง ผักกระเฉดตัดท่อนสั้น พริกขี้หนูแห้งทอด


อาหารภาคกลาง เป็นอาหารที่มีการใช้กะทิ และเครื่องแกงต่าง ๆ มากที่สุด โดยการนำมาทำแกงต่าง ๆ และยังรับประทานแนมกับอาหารอื่น ๆด้วย เช่น แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น แกงคั่ว พะแนง ฯลฯ หรือที่ไม่ใช้กะทิแต่ใช้เครื่องแกง แกงส้ม แกงป่า ฯลฯ อาหารเหล่านี้จะมีเครื่องกินแนมด้วย โดยเลือกรสชาติที่เข้ากันได้ รับประทานร่วมกันแล้วทำให้อาหารอร่อย เครื่องแนมที่นิยมรับประทานกับแกงต่าง ๆ ก็มี


ปลาเค็ม คือการนำปลามาหมักกับเกลือ แล้วตากแดดให้แห้ง หรือนำมาหมักกับน้ำปลาสัก 30 นาที ตากแดด 1 วัน เรียกว่า ปลาแดดเดียว


เนื้อเค็ม – หมูเค็ม คือการนำเนื้อหรือหมูมาแล่เป็นชิ้นใหญ่แล้วหมักกับเกลือ น้ำตาล น้ำปลา ตากแดดให้แห้ง


ปลาสลิดเค็ม การหมักปลาสลิดกับเกลือ หมักทิ้งไว้ 1 คืน ล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้ง


ไข่เค็ม คือการนำไข่เป็ดมาดองกับน้ำเกลือที่ต้มแล้ว นานประมาณ 15 วัน ไข่เค็มสามารถนำมาเคียงได้ทั้ง ต้ม นึ่ง และทอด


ผักดองสามรส คือการดองผักประเภท กะหล่ำปลี มะละกอ แตงกวา แครอท โดยการดองกับน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ


ขิงดอง คือการนำขิงอ่อนมาแช่กับน้ำเกลือประมาณ 1 ชั่วโมง บีบน้ำออกให้หมด แล้วดองกับน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ


หอมแดงดอง คือ การนำหอมแดงมาแช่ในน้ำเกลือประมาณ 6 ชั่วโมง แล้วผึ่งแดดให้เหี่ยว นำไปดองกับน้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ


หัวไชเท้าดองสามรส คือ การนำหัวไชเท้าหมักกับเกลือ 1 คืน ล้างให้สะอาด ผึ่งแดดอีก 1 วัน นำไปดองกับ น้ำส้มสายชู น้ำตาล เกลือ

แม้แต่อาหารประเภทน้ำพริกเครื่องจิ้ม ก็จะมีเครื่องเคียงที่จะต้องกินแนมหลายอย่าง เครื่องจิ้มที่นิยมรับประทานกัน คือ หลนเต้าเจี้ยว หลนปูเค็ม หลนเต้าหู้ยี้ หลนปลาเจ่า หลนปลาร้า ปลาร้าทรงเครื่อง หลนกะปิ ฯลฯ อาหารประเภทนี้จะรับประทานกับผักสด หรือแนมด้วยปลาดุกฟู


 

ผักที่นิยมรับประทานจะเป็นผักทั่ว ๆ ไป เช่น


ผักกระเฉดน้ำ ลักษณะเป็นไม้เลื้อย เกิดในน้ำ มีนมหุ้มลำต้น เวลาจะรับประทานต้องลอกนมออกก่อน แล้วเด็ดเอาแต่ยอดอ่อน


ผักตับเต่า ใบจะกลมมน เกิดในน้ำ ใช้จิ้มน้ำพริก


ดอกแค มีสีขาว เมื่อจะนำมารับประทาน ให้ดึงเกสรสีเหลืองตรงกลางออกก่อนจึงนำไปแกง ลวกจิ้มน้ำพริก หรือสอดไส้ทอด


แตงกวา จะลูกเล็กกว่าแตงร้าน ใช้จิ้มน้ำพริก และทำอาหารได้หลายอย่าง


มะเขือยาว เป็นผลยาว สีเขียว ใช้ยำ ผัด และทำอาหารอื่น ๆ


มะเขือม่วง ลักษณะลูกจะเล็กกว่ามะเขือยาว สั้น มีสีม่วง ใช้จิ้มน้ำพริก


ถั่วพู ใช้จิ้มน้ำพริก ยำ


ชะอม คล้ายหางนกยูงแต่เล็กกว่า ตามกิ่งจะมีหนาม กลิ่นฉุน ใช้ทอดกับไข่ ใส่แกง


ถั่วฝักยาว เป็นฝักเล็กยาว ใช้จิ้มน้ำพริก และทำอาหารได้หลายอย่าง


บวบ ลักษณะเป็นผลยาว มีเหลี่ยม ใช้จิ้มน้ำพริก และนำไปทำอาหารอื่น ๆ


ฟักทอง ลักษณะเป็นผลกลมแป้น เนื้อสีเหลือง ใช้ต้มจิ้มน้ำพริก ทำอาหารคาว หวานได้


ฟัก เป็นผลกลมรี สีเขียว เนื้อขาว ใช้ทำอาหารประเภทแกง


ใบเล็บครุฑ คล้ายใบเฟิร์น ใช้ชุบแป้งทอดรับประทานกับขนมจีนน้ำพริก


ใบทองหลาง ใบเรียว ใช้รับประทานกับเมี่ยงคำ ข้าวมันส้มตำ เมี่ยงต่าง ๆ


ใบบัวบก ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก รับประทานกับผัดไทย ทำยำและน้ำบัวบก


ภาคอีสาน

หากจะกล่าวถึงอาหารการกินของคนอีสาน หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยและได้ลิ้มชิมรส กันมาบ้างแล้ว ชาวอีสานมีวถีการดำเนินชีวิต ที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับการที่รับประทานอาหารอย่างง่ายๆ มักจะรับประทานได้ทุกอย่าง เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของภาคอีสาน ชาวอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่สามารถรับประทานได้ในท้องถิ่น มาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทาน อาหารอีสานเป็นอาหารที่มีความแตกต่างจากอาหารของภาคอื่นๆ และเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชาวอีสาน อาหารของชาวอีสานในแต่ละมื้อจะเป็นอาหารง่ายๆเพียง 2-3 จาน ซึ่งทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลักพวกเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อปลาหรือเนื้อวัวเนื้อควาย ความพึงพอใจในรสชาติอาหารของชาวอีสานนั้นไม่มีตายตัวแล้วแต่ความชอบของบุคคล แต่อาหารพื้นบ้านอีสานส่วนใหญ่แล้วจะออกรสชาติไปทางเผ็ด เค็ม และเปรี้ยว เครื่องปรุงอาหารอีสานที่สำคัญและแทบขาดไม่ได้เลย คือ ปลาร้า ซึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษของชาวอีสาน ถ้าจะกล่าวว่าชาวอีสานทุกครัวเรือนต้องมีปลาร้า ไว้ประจำครัวก็คงไม่ผิดนัก ปลาร้าใช้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารได้ทุกประเภท เหมือนกับที่ชาวไทยภาคกลางใช้น้ำปลา แจ่วบอง



ภาคใต้

เป็นภาคที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลมากที่สุด ลักษณะภูมิประเทศ เป็นแหลมที่ยื่นลงไปในทะเล ผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้จึงนิยมทำการประมง
เพราะมีทรัพยากรในท้องทะเลมากมาย เมื่ออาศัยอยู่ชายทะเล อาชีพเกี่ยวข้องกับทะเล อาหารหลักในการดำรงชีวิตจึงเป็นอาหารทะเล
อาหารส่วนใหญ่ของคนภาคใต้ มักเกี่ยวข้องกับปลา และสิ่งอื่น ๆ จากท้องทะเล อาหารทะเลหรือปลา โดยธรรมชาติจะมีกลิ่นคาวจัด
อาหารภาคใต้จึงไม่พ้นเครื่องเทศ โดยเฉพาะขมิ้นดูจะเป็นสิ่งที่แทบจะขาดไม่ได้เลย เพราะช่วยในการดับกลิ่นคาวได้ดีนัก
ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอาหารปักษ์ใต้จะมีสีออกเหลือง ๆ แทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแกงไตปลา แกงส้ม แกงพริก ปลาทอด ไก่ทอด ก็มีขมิ้นกันทั้งสิ้น และมองในอีกด้านหนึ่ง
คงเป็นวัฒนธรรมการกินที่ผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมในภาคใต้นั่นเอง

 

Copyright (c) 2006 by Meemodo.com